จังหวัดภูเก็ตเปิดศูนย์ช่วยเหลือน้ำท่วมรับบริจาคสิ่งของจำเป็นส่งช่วย ขณะที่การเฝ้าระวังน้ำท่วมดินถล่มในพื้นที่เตรียมแผนพร้อมแล้วเน้นพื้นที่เศรษฐกิจ
วันนี้ (11 ต.ค.) นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานแถลงข่าวการเปิดศูนย์รับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง ที่กำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้ ว่า ตามที่ได้เกิดน้ำท่วมอย่างหนักในหลายๆ พื้นที่ของประเทศไทยส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค บ้านเรือนได้รับความเสียหาย
ทางจังหวัดภูเก็ต จึงได้เปิดศูนย์เพื่อรับบริจาคสิ่งของเพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยขึ้น ณ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต ภายใต้ชื่อ ?ศูนย์ภูเก็ตร่วมใจช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม?
สำหรับสิ่งของที่ต้องการรับบริจาคเป็นสิ่งของจำเป็น เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค และเงิน โดยการรับบริจาคสิ่งของนั้นเริ่มตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หลังจากนั้นก็จะรวบรวมนำสิ่งของส่งไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนต่อไป ซึ่งในการเปิดศูนย์รับบริจาคในวันนี้ มีผู้ร่วมบริจาคแล้วหลายราย
อาทิ มูลนิธิกุศลธรรม ร่วมบริจาคเงินสด จำนวน 20,000 บาท พร้อมด้วยถุงยังชีพ 500 ชุด ชมรมร้านขายยาภูเก็ต จำนวน 30,000 บาท ชมรมน้ำน้ำภูเก็ต เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต เครือข่ายโอทอปจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานอื่นๆ อีกหลายหน่วยงาน
นายนิรันดร์ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการรับมือปัญหาน้ำท่วมและดินสไลด์ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ว่า สำหรับจังหวัดภูเก็ตเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่จะต้องเฝ้าระวังปัญหาเหล่านี้ ซึ่งได้มีการเตรียมแผนในการรับมืออยู่แล้ว โดยมีการเฝ้าวัดระดับน้ำตลอดเวลา จำนวน 3 จุด คือ ที่โรงเรียนบ้านไม้เรียบ ขุมเหมืองสรรพสามิต และโรงเรียนสตรีภูเก็ต โดยใช้ระบบลีดไลน์ในการวัดระดับน้ำ ซึ่งจะส่งข้อมูลผ่านมาทางระบบคอมพิวเตอร์และสามารถแจ้งเตือนประชาชนได้ล่วงหน้า 2 ชั่วโมง
ส่วนพื้นที่ที่เน้นเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ พื้นที่ย่านเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ต ไม่ว่าจะเป็นย่านตัวเมือง วิชิต รัษฎา ป่าตอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญหากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมจะสร้างความเสียหายให้กับจังหวัดภูเก็ตเป็นอย่างมาก จึงเน้นเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
นายนิรันดร์ กล่าวถึงการเฝ้าระวังพื้นที่ดินถล่ม ว่า จังหวัดภูเก็ตได้ประสบปัญหานี้มาประมาณ 2-3 ปี แล้ว เนื่องจากดินภูเก็ตเป็นดินที่ร่วนพร้อมที่จะสไลด์ลงมาตลอดเวลาถ้ามีฝนตกหนัก ซึ่งก็มีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอดเวลา แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น ส่วนการเฝ้าระวังนั้นยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์