ข่าวสาร ข่าวทั่วไป ในแถบ อันดามัน ( ภูเก็ต, กระบี่, ระนอง, ตรัง, พังงา, สตูล )
ภูเก็ต, ชุมชนภูเก็ต 14 แห่งอยู่ในที่หลวง-เอกชน เร่งแก้เช่าที่รัฐกันแนวชุมชนออกจากป่า ( ข่าวภูเก็ต )
คณะอนุกรรมการแก้ปัญหาความยากจนด้านที่ดิน เดินหน้าแก้ปัญหา 18 ชุมชนในภูเก็ตที่มีข้อพิพากที่ดินอยู่อาศัยทั้งรุกที่ดินเอกชน ที่ราชพัสดุ อยู่ในป่าชายเลน แก้ปัญหาลุล่วงแล้ว 4 แห่ง ด้วยการเช่าที่ราชพัสดุอยู่อาศัย ส่วนที่เหลืออีก 14 ชุมชนได้ข้อยุติอยู่หลังประกาศเป็นที่หลวงต้องเช่าทั้งหมด ส่วนกรณีมีคดีความกับเอกชนให้ผนึกกำลังกับหน่วยงานราชการสู้กับนายทุน พร้อมกันแนวเขตชุมชนให้ชัดเจนกรณีอยู่ในที่ป่าชายเลนและผลักดันให้ออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินเป็นสิทธิ์ของชุมชนดูแลต่อไป
เมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้ (19 พ.ค.) พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะอนุกรรมการแก้ปัญหาความยากจนด้านที่ดิน เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาที่ดินสำหรับสร้างบ้านที่อยู่อาศัยของชุมชนต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต 18 ชุมชนที่ยังมีปัญหาพิพาษกันอยู่ไม่ว่าจะเป็นชุมชนที่อยู่ในที่ดินของเอกชน ที่ราชพัสดุ ที่ป่าชายเลน ที่อุทยานแห่งชาติและที่ดินสาธารณะ เป็นต้น
โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถาบันพัฒนาองคกรชุมชน (พอช.) ที่ดินจังหวัดภูเก็ต ป่าไม้ ธนารักษ์พื้นที่ภูเก็ต ฯลฯ และตัวแทนชุมชนทั้ง 18 ชุมชนในภูเก็ต ร่วมประชุมที่ห้องประชุมสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต
นางปรีดา คงแป้น ผู้จัดการโครงการบ้านมั่นคงภาคใต้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน รายงานความคืบหน้าการแก้ปัญหาที่ดินเพื่อสร้างบ้านที่อยู่อาศัยของชุมชนทั้ง 18 แห่งในภูเก็ตว่า จังหวัดภูเก็ตมีชุมชนที่ยังมีปัญหาด้านที่อยู่อาศัยทั้งหมด 18 ชุมชน 2,916 ครอบครัว ขณะนี้สามารถที่จะแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้แล้ว 4 ชุมชน ชุมชนท่าเรือใหม่รัษฎา ซึ่งทาง อบจ.ภูเก็ตจะให้เช่าพื้นที่ และอีก 3 ชุมชนที่อยู่ในที่ราชพัสดุ คือ ชุมชนบ้านแฝด ชุมชนหลังป้อม ชุมชนหน้าวัด บ้านท่าฉัตรไชย ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต โดยการเช่าที่ราชพัสดุเป็นที่อยู่อาศัย
ส่วนอีก 14 ชุมชนที่อยู่ระหว่างการแก้ปัญหานั้น อยู่ในที่ดินสาธารณะของรัฐ 5 ชุมชนที่ราชพัสดุ 1 ชุมชน ที่ดินเอกชน 4 ชุมชนและอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลนและอุทยานแห่งชาติ 4 ชุมชน ซึ่งทางชุมชนต้องการที่จะเช่าที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย
เช่น ชุมชนประชาสามัคคี ที่ ต.เกาะแก้ว ต้องการสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยอย่างถาวร เพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัยและระบบสาธาณูปโภค เช่น ชุมชนบ้านสะปำ ชุมชนเกาะผี ชุมชนคลองปากบาง ชุมชนโคกโตนด-เฉลิมพระเกียรติ ชุมชนหาดแสนสุข และต้องการให้มีการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ที่ดิน เช่น ชุมชนปลากระตัก ชุมชนบ้านแหลมหลา ชุมชนลายัน ชุมชนบ้านหินรากไม้และชุมชนหินลูกเดี่ยว เพราะชาวบ้านเห็นว่าได้เข้าไปอยู่ที่ในที่ดินก่อนที่จะมีการประกาศเป็นที่ราชพัสดุ ที่ป่าไม้ อุทยานฯ เป็นต้น
โดยเฉพาะชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านแหลมหลา ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ได้นำเสนอในที่ประชุมว่า ต้องการที่จะให้ภาครัฐเข้าไปพิสูจน์สิทธิ์ในที่ราชพัสดุที่อาศัยอยู่ในขณะนี้ เพราะมั่นใจว่าชุมชนมอร์แกนที่บ้านแหลมหลาอาศัยมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งอาศัยมาก่อนที่จะประกาศเป็นที่ราชพัสดุ ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาทางธนารักษ์พื้นที่ภูเก็ตจะพยายามเข้าไปแก้ปัญหาด้วยการรังวัดที่ดินแบ่งเป็นล๊อกเพื่อให้ชาวบ้านเช่า แต่ชาวบ้านไม่ยอม โดยอ้างว่าทางจังหวัดภูเก็ตได้กันพื้นที่ดังกล่าวไว้เป็นพื้นที่อนุรักษ์วิถีชีวิตของชาวมอร์แกน ซึ่งทางที่ประชุมได้ตกลงที่จะให้มีการรังวัดที่ดินไปก่อน ส่วนการพิสูจน์สิทธิ์ให้ดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
ขณะที่ชุมชนปลากระตัก ต.รัษฏา อ.เมืองภูเก็ต ได้สอบถามความคืบหน้าการจัดที่ดินสาธารณะให้ประชาชนเข้าไปประกอบอาชีพทำปลากระตักตากแห้ง แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้แม้ว่าระยะเวลาจะล่วงเลยมานานแล้วก็ตาม ซึ่งทางที่ดินจังหวัดภูเก็ตได้รายงานให้ทราบว่า ทางที่ดินจังหวัดภูเก็ตได้ประกาศเป็นที่ดินสาธารณะแล้ว
แต่ทางบริษัทเอกชนที่กลุ่มปลากระตักไปเช่าที่ดินดำเนินการก่อนที่จะมีปัญหาพิพากกันได้คัดค้านโดยอ้างว่าที่ดิน 12 ไร่ ที่ทางจังหวัดจะประกาศเป็นที่สาธารณะซึ่งเป็นที่ดินที่งอกเลยจากเอกสารสิทธิ์ของเอกชนและได้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายอำเภอเมืองภูเก็ต และเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ที่รวมกันประกาศเป็นที่ดินสาธารณะ การดำเนินการคงต้องรอให้สิ้นสุดขบวนการของศาล
ชุมชนบ้าหมากปรก อ.ถลาง ที่อยู่ในพื้นที่ป่าชายเลน ทางจะมีการย้ายไปอยู่ในที่ดินใหม่ที่ไม่อยู่ในพื้นที่ป่าชายเลน ชุมชนหินลูกเดียว ซึ่งเป็นชุมชนมอร์แกน พื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ ชุมชนเกาะผีที่ชาวบ้านต้องการกันแนวที่ดินที่ชัดเจนและต้องการบ้านมั่นคงอีกด้วย เช่นเดียวกับชุมชนคลองปากบาง ที่หาดป่าตอง ที่ยังไม่รู้ชะตากรรมว่าอีก 3 ปีกว่าจะไปอยู่ที่ไหน เพราะบ้านถาวรที่สร้างให้จากภัยสึนามิจะอยู่ได้แค่ 5 ปีเท่านั้น แต่ขณะนี้อยู่มาแล้ว 1 ปีกว่า
นางปรีดา กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาชุมชนต่างๆ ในภูเก็ตที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐรับรองสิทธิ์การอยู่อาศัยหรือสิทธิ์ชุมชน ซึ่งอาจจะเป็นโฉนดของชุมชน ซึ่งหากให้สิทธิ์ของชุมชนได้จะทำให้ชุมชนสามารถที่จะดูแลกันได้และมีความสามัคคีเกิดขึ้นในชุมชนอีกด้วย แต่ในเบื่องต้นจะต้องมีการกันแนวเขตของชุมชนให้ชัดเจนก่อนที่จะเสนอให้เป็นสิทธิของชุมชนต่อไป
ด้าน พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะอนุกรรมการแก้ปัญหาความยากจนด้านที่ดิน กล่าวว่า ปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยในชุมชนของภูเก็ตที่ยังมีปัญหาอยู่ทั้งหมด 14 ชุมชนที่ยังแก้ปัญหาไม่สำเร็จ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ได้ข้อยุติว่าในชุมชนที่เป็นที่ดินของรัฐที่ประชาชนเข้าไปอาศัยที่หลังนั้นจะดำเนินการในลักษณะให้ประชาชนเข้าไปเช่าตามที่กฎหมายกำหนด
โดยการวางผังที่อยู่อาศัยใหม่ให้มีความชัดเจนป้องกันการบุกรุกเพิ่ม รวมทั้งต้องการให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น โดยได้มอบหมายให้ทางชุมชนเป็นตัวกลางในการดำเนินการและมีทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเป็นผู้ประสาน
ส่วนกรณีของชุมชนที่เป็นคดีความกับเอกชนโดยการเข้าไปอยู่ในที่ดินของเอกชนนั้น เช่น ชุมชนปลากระตัก ให้ทางประชาชนและหน่วยงานราชการร่วมมือกันในการต่อสู้กับนายทุนต่อไป เพราะที่ดินดังกล่าวหากดูจากภาพถ่ายดาวเทียมแล้วเป็นที่ป่าชายเลนชัดๆ เพราะมีน้ำท่วมถึงซึ่งไม่เข้าใจเหมือนกันว่าออกเอกสารสิทธิได้อย่างไร และในส่วนไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ 12 ไร่จะมีการทำผังใหม่ เพื่อให้ 43 ชุมชนได้มีที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพทำปลากระตักต่อไป
พล.อ.สุรินทร์ กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาของชุมชนต่างๆ ในภูเก็ตนั้น คาดว่าจะดำเนินการให้เสร็จเห็นเป็นรูปธรรมภายในปีหน้านี้อย่างแน่นอน และหากเป็นไปได้ต้องการที่ให้สิทธิ์ของชุมชนในการดูแลพื้นที่ดังกล่าวด้วย ซึ่งหากสามารถออกเอกสารสิทธิได้ก็จะออกเป็นเอกสารที่เป็นสิทธิ์ของชุมชนไม่ออกเป็นเอกสารสิทธิของคนใดคนหนึ่ง เพื่อป้องกันการขายต่อและสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชน
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์