อบจ. ภูเก็ต เร่งสร้าง GATE WAY ให้เสร็จทันร่วมเฉลิมฉลอง 5 ธันวาฯมหาราช พร้อมผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ เปิดรับนักท่องเที่ยวปลายปีนี้
นางอัญชลี วานิช เทพบุตร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.ภูเก็ต) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการประตูเมืองภูเก็ต หรือ GATE WAY บริเวณแยกทางเข้า-ออก ใกล้สะพานท้าวเทพกระษัตรี ? ท้าวศรีสุนทร บริเวณท่าฉัตรไชย ว่า การก่อสร้างมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 96 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้น จะเป็นการตกแต่งภายในทั้งหมด
ขณะนี้งานที่ล่าช้า จะเป็นในส่วนของงานติดตั้งซุ้มทางเท้าม้านั่ง งานสถาปัตยกรรมและงานตกแต่งเสาศิลาประติมากรรม งานติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าภายนอกอาคาร งานปรับภูมิทัศน์ งานถนนทางเชื่อมทางหลวงขาเข้า-ออก งานติดตั้งป้ายจราจร เป็นต้น ซึ่งคาดว่าการก่อสร้างทั้งหมดจะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2549 เพื่อให้เรียบร้อยทันร่วมในพิธีเฉลิมฉลองเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวามหาราช และวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
การก่อสร้างดังกกล่าวใช้งบประมาณทั้งสิ้น 46,676,617 บาท สร้างบนพื้นที่ราชพัสดุจำนวน 25 ไร่ นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งกล้องวงจรปิด หรือ CCTV ที่ใช้งบประมาณอีก 10 ล้านบาท
สำหรับประตูเมืองภูเก็ต หรือ GATE WAY จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ และจะเป็นห้องรับแขกห้องแรก ที่จะต้อนรับและอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางมาเยือน จ.ภูเก็ต
ทั้งนี้ ได้แบ่งเป็นพื้นที่ใช้สอยต่างๆ เช่น จุดตรวจ CHECK POINT ของสถานีตำรวจภูธร ปศุสัตว์ ตำรวจท่องเที่ยว ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว สถานที่จอดรถ จุดพักผู้โดยสาร ซึ่งจะมีร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงโซนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP ของกลุ่มแม่บ้านภูเก็ต
นางอัญชลี กล่าวต่อไปว่า นอกจากโครงสร้างตัวอาคาร ที่สามารถสะท้อนถึงความเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นภูเก็ตแล้ว ยังมีการจัดภูมิทัศน์งานประติมากรรมที่เป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่น โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ธนะ เลาหกัยกุล ศิลปินระดับนานาชาติ มาปั้นประติมากรรมชิ้นเอกให้ และได้ก่อสร้างเสาศิลาอีก 29 ต้น ภายในบริเวณดังกล่าว
ทั้งนี้ มีนัยว่า เลข 2 คือ ท้าวเทพกระษัตรี ? ท้าวศรีสุนทร วีรสตรีของชาวภูเก็ต ส่วนเลข 9 มีนัยถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เนื่องจาก อบจ.ภูเก็ต มีความตั้งใจที่จะถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวามหาราช และทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
สำหรับ เสาศิลาทั้ง 29 ต้น จะเรียงร้อยเรื่องราวต่างๆ ของภูเก็ตเอาไว้ ตั้งแต่ยุครุ่งเรืองของการทำเหมืองแร่ดีบุก การทำเกษตรกรรม มาจนถึงยุคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ และกลุ่มผู้รักษ์ประวัติศาสตร์เมืองเก่าภูเก็ต เป็นคณะจัดทำและตรวจสอบข้อมูลที่จะจารึกลงบนเสาศิลาทั้ง 29 ต้น ซึ่งก็จะเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งที่ให้นักท่องเที่ยวและเยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์