บริษัทที่ปรึกษาสรุปผลการศึกษารถไฟฟ้ารางเบารอบเกาะภูเก็ตรอบสุดท้ายแล้ว ระบุ ภูเก็ตเหมาะสมกับรถไฟฟ้าล้อยางที่วิ่งบนดิน โดยเส้นทางเร่งด่วนอันดับต้นๆ ที่ต้องสร้าง 3 เส้นทาง สนามบิน-ห้าแยกฉลอง ป่าตอง-เมืองภูเก็ต และ สามแยกบางคู-เมืองภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ที่ต้องใช้งบลงทุนสูงถึง 11,500 ล้านบาท
วันนี้ (8 ก.ย.) คณะกรรมการกำกับการศึกษาโครงการศึกษาความเป็นไปได้ การก่อสร้างรถไฟฟ้าขนาดเบารอบเกาะภูเก็ต และเส้นทางสนามบิน ได้มีการประชุมเพื่อตรวจรับงานโครงการศึกษาความเป็นไปได้ การก่อสร้างรถไฟฟ้าขนาดเบารอบเกาะภูเก็ต และเส้นทางสนามบินงวดที่ 5 ร่างฉบับสมบูรณ์ (Draft Final Report) โดยมี นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธาน ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต
ทั้งนี้ ตามที่จังหวัดภูเก็ตได้ว่าจ้าง บริษัท พีระมิด ดีเวลล็อปเมนท์ อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด บริษัท อีโอซิสเต็ม เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด และศูนย์วิจัยและพัฒนาการจราจรและขนส่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ทำการศึกษาความเป็นไปได้ การก่อสร้างรถไฟฟ้าขนาดเบารอบเกาะภูเก็ตและเส้นทางสนามบิน ซึ่งขณะนี้บริษัทที่ปรึกษาได้ศึกษาแล้วเสร็จ และได้นำเสนอร่างรายงานการศึกษาฉบับสุดท้าย ให้คณะกรรมการได้พิจารณา
ผลการศึกษาขั้นสุดท้ายได้เสนอเส้นทางรถไฟฟ้าในภูเก็ต ที่เป็นเส้นทางเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ 3 เส้นทาง ซึ่งทั้ง 3 เส้นทาง เป็นเส้นทางที่คาดว่าจะมีปริมาณการใช้รถไฟฟ้าสูงในอนาคตอีก 10-20 ปีข้างหน้า
เส้นทางที่มีความสำคัญเร่งด่วนเส้นแรก คือ เส้นทางจากสนามบินภูเก็ต-สามแยกบางคู-โลตัส-เซ็นทรัล-ห้าแยกฉลอง ที่คาดว่า ในปี 2569 จะมีผู้โดยสารวันละประมาณ 55,400 คน และเป็นเส้นทางที่จะขนนักท่องเที่ยว จากสนามบินภูเก็ตไปยังแหล่งที่พัก
เส้นทางที่ 2 คือ เส้นทางสี่แยกศูนย์การค้าเซ็นทรัล (เมืองภูเก็ต) ไปยังหาดป่าตอง เส้นทางนี้นักท่องเที่ยวและผู้โดยที่มาจากสนามบินสามารถต่อรถไปยังหาดป่าตองได้สะดวก โดยประมาณการว่า ในปี 2569 จะมีปริมาณผู้โดยสารอยู่ที่ 40,000 คนต่อวัน และเส้นทางที่ 3 คือ เส้นทางจากสามแยกบางคูผ่านเข้าเมืองภูเก็ตไปสิ้นสุดที่ห้าแยกฉลอง ปริมาณการผู้โดยสารในปี 2569 อยู่ที่ 54,700 คน
รถไฟฟ้าล้อยางเหมาะสุด
ทั้ง 3 เส้นทางนี้ ผลการศึกษาระบุว่า จะต้องเป็นรถไฟฟ้าระบบล้อยางแบบผิวดิน (วิ่งบนถนน) ที่เป็นลักษณะรถบัสที่ทันสมัยระบบไฮบริดจ์ (ใช้แบตเตอรี่) ในการวิ่ง และต้องชาร์จแบตเตอรี่ทุกๆ 220 กิโลเมตร (กม.) ความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งระบบดังกล่าวเป็นระบบที่เหมาะสมกับภูเก็ต เพราะปริมาณผู้โดยสารในภูเก็ตมีไม่ถึง 100,000 คนต่อวัน หากจะใช้ระบบรถไฟฟ้าเหมือนที่ กทม.จะมีปัญหาในเรื่องของจำนวนผู้โดยสารและไม่คุ้มค่าการลงทุน
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษายังระบุถึงช่องทางการวิ่งของรถไฟฟ้าที่ภูเก็ต ว่า เป็นรถไฟฟ้าล้อยางที่วิ่งบนถนนทั่วไปเหมือนรถยนต์ชนิดอื่นๆ ซึ่งอาจจะมีการกันเป็นเลนเฉพาะสำหรับรถไฟฟ้า หรือไม่ใช้เลนวิ่งร่วมกับรถอื่นๆ บนถนน
บริษัทที่ปรึกษาได้ระบุถึงเลนวิ่งที่เหมาะสมสำหรับภูเก็ต ว่า ในเส้นทางจากสนามบิน-ห้าแยกฉลองนั้น ซึ่งวิ่งในเส้นทางถนน 401 ซึ่งเป็นถนนสายหลักของภูเก็ต ที่มี 4 ช่องทางจราจร สามารถที่จะกันเป็นเลนพิเศษสำหรับรถไฟฟ้าได้ เพราะถนนกว้าง กอรปกับในเส้นทางดังกล่าวต้องการความรวดเร็วในการเดินทาง โดยการทาสีช่องทางจราจรให้เป็นสีสำหรับรถไฟฟ้า จุดที่เป็นทางแยกต่างๆ จะเป็นอุโมงค์ลอด
ส่วนในเส้นทางเมืองภูเก็ต-ป่าตอง และเส้นทางสามแยกบางคู-เมืองภูเก็ต-ห้าแยกฉลองใช้เส้นทางจราจรร่วมกับรถยนต์อื่นๆ เพียงแต่จะต้องให้ความสำคัญกับรถไฟฟ้าเป็นอันดับแรก โดยการเปิดไฟเขียวตลอด ช่วงที่รถไฟฟ้าผ่านแยกต่างๆ ทั้งนี้ เพราะในเส้นทางดังกล่าวถนนคับแคบ ไม่ต้องการความเร็วเหมือนกับเส้นทางสนามบิน และต้องการบริการประชาชนให้มากขึ้น
ใช้เงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท
สำหรับการลงทุนก่อสร้าง หากจังหวัดภูเก็ต เลือกที่จะให้รถไฟฟ้าวิ่งบนเลนพิเศษ ในเส้นทางสนามบิน-ห้าแยกฉลอง และวิ่งรวมกับรถยนต์อื่นๆ ในเส้นทางป่าตอง-เมืองภูเก็ต และเส้นทางสามแยกบางคู-เมืองภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง หรือเรียกว่าระบบ Rapid Transit System จะต้องใช้เงินลงทุน 11,500 ล้านบาท ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 143,130 ล้านบาท ระยะเวลาในการคืนทุน 26 ปี (Soft Loan)
ทางเลือกที่สองเป็นการวิ่งในเส้นทางพิเศษ สำหรับรถไฟฟ้าโดยเฉพาะทั้ง 3 เส้นทาง หรือระบบปิด ใช้เงินลงทุน 21,500 ล้านบาท ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 250,610 ล้านบาท ระยะเวลาในการคืนทุน 27 ปี (Soft Loan) และ 26 ปี (JBIC) และทางเลือกการสุดท้ายเปิดระบบเปิดที่ทั้ง 3 เส้นทางวิ่งรวมกับรถยนต์อื่นๆ ใช้เงินลงทุนต่ำที่สุด 9,700 ล้านบาท ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 181,405 ล้านบาท ระยะเวลาในการคืนทุน 24 ปี (Soft Loan) และ 23 ปี (JBIC)
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์