อบต.กมลาวุ่นเกิดปัญหาขัดแย้ง นายกฯชี้ปลัดอบต.ไม่สนองนโยบายผู้บริหารอ้างชาวบ้านมองปัญหาในกมลาทำให้โครงการชงักเพราะปลัดฯอยู่เบื้องหลังพร้อมขับไล่ทันทีที่กลับเข้าทำงานในพื้นที่ ขณะที่ปลัดฯแจงปัญหาความขัดแย้งเกิดจากการปฏิบัติราชการ เหตุนายกฯทำโครงการจัดซื้อจัดจ้างไม่มีราคากลาง บริหารงานไม่เป็นไปตามระเบียบราชการ
จากกรณีที่นายสรนันท์ เสน่ห์ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลกมลา ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนนายจรัล สารรักษ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกมลา เรื่องปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 3 เรื่องหลัก คือ การจัดเก็บภาษีโรงเรือนของ บริษัท ภูเก็ตแฟนตาซี จำกัด ต่ำกว่าที่ประเมิน การเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องก่อกรณีการก่อสร้างเขื่อนปากบาง และการก่อสร้างโรงแรมโดยไม่ได้รับอนุญาต
นายจรัล สารรักษ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกมลา กล่าวถึงความขัดแย้งในอบต.กมลาจนมีการร้องเรียนเกิดขึ้น ว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นที่อบต.กมลา ชาวบ้านกมลามองว่ามีปลัดอบต.กมลา นายสัจจพล ทองสม อยู่เบื้องหลัง และมองว่าปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดความเสียหายกับทางอบต. โดยเฉพาะที่ชาวบ้านกมลาไม่พอใจมากๆ คือ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้งบประมาณที่จะนำมาพัฒนากมลาต้องชะงักไปด้วย จากการตรวจสอบการร้องเรียนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย 300 ล้านบาท โครงการก่อสร้างเขื่อนปากบาง 15 ล้านบาท โครงการก่อสร้างเขื่อนนาคา 20 ล้านบาท และโครงการอื่นๆ
นายจรัล กล่าวต่อไปว่า จากปัญหาดังกล่าวทำให้ชาวบ้านกมลาได้รวมตัวที่จะขับไล่ปลัดคนดังกล่าวออกนอกพื้นที่กมลามาแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรกได้รวมตัวกันจะขับไล่เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา แต่ตนได้ขอไว้เพราะไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น และล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันครบกำหนดวันลาพักของปลัดอบต. ชาวบ้านได้มายื่นหนังสือกับตนเพื่อให้ขอโยกย้ายปลัดอบต.ออกจากพื้นที่กมลา ซึ่งเรื่องนี้ตนได้ทำหนังสือไปยังนายอำเภอกะทู้ให้โยกย้ายไปประจำอบต.แล้วก่อนหน้านี้ และทางอำเภอได้ส่งหนังสือไปยังจังหวัดภูเก็ตแล้ว และทางจังหวัดมีคำสั่งให้ปลัดอบต.อยู่ในพื้นที่กมลาก่อนจนกว่าจะสับเปลี่ยนตำแหน่งกับอบต.อื่น ซึ่งตนไม่แน่ใจว่าจะสับเปลี่ยนตำแหน่งกับอบต.ใดได้บ้าง เพราะตลอดเวลา 1 ปีทีผ่านมา ที่ปลัดอบต.ไปช่วยราชการที่อำเภอกะทู้ไม่สามารถที่จะสับเปลี่ยนตำแหน่งกับอบต.ใดได้เลยทั้ง 16 อบต.
?ตั้งแต่ปลัดอบต.คนนี้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ทำให้อบต.กมลาถูกขึ้นบัญชีดำของสตง.และการทำงานที่ผ่านมาทั้งปลัดอบต. ประธานสภาฯและสมาชิกบางคนรุมกินโต๊ะนายกอบต.คนเดียว?
นายจรัล กล่าวอีกว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับระหว่างตนกับปลัดอบต.เกิดจากปลัดอบต.ทำงานไม่สนองนโยบายฝ่ายบริหาร ทำงานบริการประชาชนไม่เป็นที่ประทับใจ ทำให้ชาวกมลาไม่รักอบต.และตำหนิการทำงานของอบต.ผ่านมาทางตนเสมอ อย่างไรก็ตามคิดว่าวันใดที่ปลัดอบต.คนดังกล่าวเข้ามาทำงานชาวบ้านกมลาจะต้องรุกฮือมาขับไล่อย่างแน่นอน
ขณะที่นายสัจจพล ทองสม ปลัดอบต.กมลา กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างตนกับนายกอบต.กมลานั้น เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานราชการที่มีความคิดเห็นไม่สอดคล้องกันในหลายๆเรื่อง เพราะที่ผ่านมาการบริหารงานของอบต.กมลาขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกอบต.เพียงคนเดียวเท่านั้น ผู้บริหารคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรองนายกฯจะไม่มีอำนาจการตัดสินใจอะไรเลย การบริหารงานเป็นในลักษณะเผด็จการ ตัดสินใจทุกเรื่องโดยนายกอบต.ทั้งหมด ทำให้ข้าราชการพนักงานอบต.กมลาและตนไม่สามารถสนองตอบนโยบายของนายกอบต.ได้ เพราะดูแล้วว่าหากสนองตอบนายกอบต.จะเป็นการกระทำกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ส่งผลให้มีการโยกย้ายข้าราชการในอบต.กมลาขนาดใหญ่ในช่วงที่งบประมาณการฟื้นฟูสึนามิลงมาในพื้นที่กมลา เริ่มตั้งแต่การโยกย้ายหัวหน้าส่วนโยธาฯที่ไม่สนองตอบนายกฯในเรื่องของโครงการก่อสร้างต่างๆ หัวหน้าการคลังที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้เช็นต์เบิกจ่ายเงินของอบต. เจ้าหน้าที่ดูแลงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ เจ้าหน้าที่นโยบายและแผน เจ้าหน้าที่จากกองช่าง รวมทั้งปลัดอบต.ที่ขอไปช่วยราชการที่อำเภอกะทู้ ซึ่งพนักงานอบต.ที่ขอย้ายออกไปนั้นทนกับสภาพการทำงานที่ไม่เป็นไปตามระเบียบไม่ได้ การดำเนินโครงการต่างๆไม่มีการการจัดซื้อจัดจ้างตามราคากลางที่คณะกรรมการกำหนดสามารถตรวจสอบได้ซึ่งการการปฏิบัติที่ผิดระเบียบว่าด้วยการจัดหาพัสดุ
อย่างไรก็ตามสำหรับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องของความขัดแย้งส่วนตัว แต่เป็นความขัดแย้งที่เกิดจากการบริหารงาน ซึ่งเกิดขึ้นหลายๆอบต.ในภูเก็ตไม่ใช่เฉพาะอบต.กมลาเท่านั้น ขอยืนยันการบริหารงานที่ผ่านมาทำด้วยความโปร่งใส
นายสัจจพล กล่าวได้กล่าวถึงเรื่องการร้องเรียนของประธานสภาอบต.กมลาที่ทำหนังสือถึงทางจังหวัดให้ตรวจสอบพฤติกรรมของนายกอบต. จริงแล้วเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องแต่เป็นการร้องเรียนของประธานสภาที่ต้องการให้เกิดความโปร่งใสในการบริหารงาน และเกิดประโยชน์ชุมชน ซึ่งมีโครงการต่างๆหลายโครงการที่อบต.กมลาได้งบประมาณมาจากกรมส่งเสริมการการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำการฟื้นฟูสึนามิมีปัญหาเกือบทั้งสิ้น เช่น โครงการปรับปรุงกุโบร์งบประมาณ 21 ล้านบาท เซ็นสัญญาจ้างเมื่อ 7 มิ.ย. 2548 ซึ่งสตง.ได้ตรวจสอบพบว่าสูงกว่าความเป็นจริงถึง 6 ล้านบาท เพราะการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการต่างๆ ไม่เฉพาะโครงการนี้ไม่มีราคากลาง ใช้วิธีพิเศษในการเปิดประมูล,การก่อสร้างเขื่อนหินและถนนคอนกรีต งบประมาณ 20 กว่าล้านบาทได้ทำสัญญาจ้างไปเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2548 ก็ไม่โปร่งใสมีการย้ายโครงการไปสร้างในหมู่บ้าน และงบเกินกว่าความเป็นจริงรวมทั้งซ้ำซ้อนกับทางแขวงการทางอีกด้วย โครงการบูรณการเขื่อนหินที่หมู่ที่ 3 งบประมาณ 26 ล้านบาท เช็นต์สัญญาเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2548 จัดซื้อจัดจ้างโดยไม่ใช้ราคากลาง โครงการก่อสร้างเขื่อนปากบาง 19 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 4 โครงการอยู่ในการสอบสวนของสตง. ซึ่งจากการสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่สตง.พบว่าทุกโครงการมีการตั้งราคาสูงกว่าความเป็นจริงทั้งสิ้นเป็นเงินกว่า 20 ล้านบาท
นอกจากความขัดแย้งในเรื่องของโครงการต่างๆ แล้ว ยังมีความขัดแย้งอื่นๆอีกมากมาย เช่น การเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้มีสิทธิ์เบิกเงิน ในอบต.ทั่วทั้งประเทศไทย มีเพียงพอบต.กมลาอบต.เดียวที่หัวหน้าส่วนการคลังไม่มีอำนาจในการลงชื่อเบิกจ่ายเงิน รวมทั้งมีการแต่งตั้งข้าราชการรักษาการณ์โดยไม่ผ่านระบบอาวุโสไม่ยึดระเบียบราชการ เป็นต้น
นายสัจจพล ยังได้กล่าวต่อไปถึงเรื่องของการประเมินภาษีของบริษัทแฟนตาซี ซึ่งทางนายกอบต.เคยกล่าวหาและทำเรื่องร้องเรียนไปลดภาษีให้กับบริษัทภูเก็ตแฟนตาซี ทำให้ท้องถิ่นเสียประโยชน์ แต่ในทางกลับกันนายกอบต.ไปประเมินภาษีในอัตราที่สูงและจัดเก็บไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและนำส่งให้อบต.ช้าตั้งๆที่ทางบริษัทดังกล่าวจ่ายเช็คมาตั้งแต่ปี 2548 แต่นำส่งเมื่อเดือน มี.ค 2549 นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการก่อสร้างโครงการที่เกี่ยวเนื่อง โครงการหนึ่งใช้งบประมาณในการดำเนินการ 19 ล้าน บริษัทที่เข้าไปดำเนินการเป็นบริษัทที่เกี่ยวพันธ์กับนายกฯ เช็นต์สัญญาจ้างพิเศษ และโครงการบางส่วนต้องเปลี่ยนสถานที่ก่อสร้าง นายกฯทำหนังสือถึงจังหวัดขอเปลี่ยนสถานที่แต่ทางจังหวัดยังไม่ตอบอะไรกลับมา แต่โครงการนี้มีการเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้ว 4 ล้าน สำหรับเรื่องนี้ทางจังหวัดได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว
ส่วนกรณีที่นายกฯกล่าวว่าปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้โครงการต่างๆในพื้นที่กมลาหยุดชงัก นั้นนายสัจจพล กล่าวว่าในช่วงที่เกิดเหตุสินามินั้นโครงการต่างๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่เป็นไปตามระบบเพราะกมลาเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย โครงที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการวิ่งเต้นของใครคนใดคนหนึ่ง และความชักช้าของโครงการก็เกิดขึ้นตั้งแต่เรื่องของการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเรื่องเหล่านี้สามารถตรวจสอบได้
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์