องค์กร ?D-Trac? จากเนเธอร์แลนด์ ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ภูเก็ตศึกษาเทศบาลนครภูเก็ต และป่าตอง เป็นตัวอย่างให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิในประเทศอื่นๆ รองรับการเกิดสึนามิในรอบต่อไป
วันนี้ (29 ส.ค.) น.ส.ศศิธร ชัยช่วย เจ้าหน้าที่วิจัยฝ่ายไทย จากมูลนิธิปฏิบัติการติดตามการฟื้นฟูภัยพิบัติสึนามิ (Asian Disaster Preparedness Center : ADPC D-TRAC) จากประเทศเนเธอร์แลนด์ พร้อมด้วย น.ส.แซนดรา เพิร์ท และนายอรุณ เกิดสม หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต เข้าพบ นายอุดมศักดิ์ อัศวรางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อหารือแลกเปลี่ยนความคิดและรวบรวมข้อมูลในด้านต่างๆ เกี่ยวกับการสรุปผลความเสียหายจากสึนามิ และสรุปรายงานสถานะทางการเงินที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ ตลอดจนแหล่งเงินได้หรือเงินงบประมาณ
ตามที่ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (Asian Disaster Preparedness Center : ADPC) ร่วมกับ Disaster Tracking Recovery Assistance Center (D-TRAC) ซึ่งอยู่ที่จังหวัดพังงา ได้รับการสนับสนุนจาก TCG International ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้โครงการ Good Urban Governance in South Asia (GUGSA)โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการศึกษาเกี่ยวกับการบริหารจัดการรับมือกับเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิและการฟื้นฟูปรับปรุงในด้านต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ธรณีภัยพิบัติ เป็นการเรียนรู้จากการบริหารจัดการในประเทศไทย รวมทั้งสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ ในด้านการบริหารจัดการ การรับมือภัยพิบัติ และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน
จากเหตุการณ์ธรณีภัยพิบัติสึนามิที่ผ่านมา หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ต ได้ดำเนินการในเรื่องการบริหารจัดการรับมือกับเหตุการณ์พิบัติภัย การฟื้นฟู ปรับปรุงพื้นที่และการจัดการของเสียต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพเป็นอย่างดียิ่ง ซึ่งน่าจะนำไปสู่การศึกษาเรียนรู้ถึงวิธีการบริหารจัดการเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศต่างๆ
น.ส.ศศิธร กล่าวว่า D-Trac จะเข้ามาศึกษาการให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันทั้ง 6 จังหวัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยโฟกัสไปที่เทศบาลต่างๆ ในการเข้าไปในการช่วยเหลือ ซึ่งมีเทศบาลที่เข้าเกณฑ์การศึกษาเพียง 6 แห่งเท่านั้น คือ เทศบาลเมืองป่าตองและเทศบาลนครภูเก็ต เพราะในพื้นที่อื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิจะอยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ไม่เข้าข่ายการศึกษา
สำหรับการศึกษา จะศึกษาครอบคลุมในเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องชองชีวิตประชาชนที่เสียชีวิต บ้านเรือนได้รับความเสียหาย อาชีพที่ได้รับความเสียหาย จำนวนประชาชนที่ได้รับความเสียหาย, เทศบาลได้เข้าไปให้การช่วยเหลือในลักษณะใดบ้าง รวมทั้งผลสรุปความเสียหายที่เกิดขึ้น และการเข้าไปให้การช่วยเหลือมีความเป็นธรรม โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้หรือไม่
นางสาวศศิธร กล่าวอีกว่า โดย D-Trac จะลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลกับผู้บริหารของเทศบาลและประชาชนในพื้นที่เป็นเวลา 2 วัน หลังจากนั้นจะสรุปผล เพื่อที่จะใช้เป็นกรณีตัวอย่าง ในการที่จะนำไปเป็นแบบอย่างในการให้ประเทศอื่นๆ ดำเนินการหากเกิดภัยพิบัติสึนามิในครั้งต่อไป
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์