ภูเก็ต, ตร.ไทย-มาเลย์ บรรลุข้อตกลงความร่วมมือทุกด้านขจัดปัญหาชายแดน 2 ปท. ( ข่าวภูเก็ต )
ประชุมร่วมตำรวจ ไทย-มาเลย์ บรรลุข้อตกลงความร่วมมือทั้ง 2 ฝ่าย พร้อมร่วมมือในทุกด้านเพื่อขจัดปัญหาร่วมกัน
เมื่อเวลา 11.00 น.วันนี้ (24 ส.ค.) ที่ห้องประชุมโรงแรมเคปพันวา ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต พล.ต.อ.อิสระพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รอง ผบ.ตร.(กศ.) ร่วมกับ Tam Sri Musa bin Dato? Haji Hassan รองอธิบดีสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย แถลงผลการประชุมทวิภาคีระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ 17 ในระหว่างวันที่ 22-24 สิงหาคม ที่ผ่านมา
โดยกล่าวว่า จากการประชุมร่วมกันมีความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติไทย กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย ซึ่งเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันในประเด็นที่มีผลกระทบกับทั้งสองประเทศ ได้แก่ การก่อการร้าย การลักลอบค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ การลักลอบค้าอาวุธ การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนตามแนวชายแดน อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ความก้าวหน้าในการคืนยานพาหนะที่ได้มาจากการโจรกรรม การแลกเปลี่ยนข่าวกรอง และการพัฒนาบุคลากร
พล.ต.อ.อิสระพันธ์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของการประชุม เพื่อแสวงหาความร่วมมือระหว่างตำรวจของทั้งสองประเทศ ในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่มีผลกระทบต่อประเทศทั้งสองในทุกรูปแบบ นอกจากนี้ ยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ และการปฏิบัติร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจของทั้งสองประเทศด้วย เนื่องจากปัจจุบันไม่สามารถที่จะปฏิเสธได้ว่า ความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ส่งผลต่อความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแลกเปลี่ยนข่าวกรองซึ่งถือเป็นหัวใจของความร่วมมือ
?ประเด็นที่มีการพูดคุยกันนั้นล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาของทั้งสองประเทศ และหาแนวทางในการร่วมกันกำจัดปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งหัวสำคัญ ได้แก่ การลักลอบขนอาวุธจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศ การค้ามนุษย์ซึ่งมีปัญหาในการลักลอบนำเข้าคน ซึ่งมีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในการประสานงานกันโดยตรงเพื่อตัดตอนขบวนการที่จะเกิดขึ้น เรื่องของกระบวนการการก่อการร้าย ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ของทั้งสองประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศอื่นๆ ด้วย
นอกจากนั้น ยังมีการหาแนวทางในการแก้ปัญหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ และเรื่องของยาเสพติด ซึ่งมีการส่งผ่านมาจากตอนเหนือของไทยลงไปทางตอนใต้ ซึ่งจะต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ในการหาแหล่งที่มาของสารตั้งต้น และแหล่งผลิต ตลอดจนความเป็นอยู่ของประชาชนบริเวณชายแดนที่ได้รับกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจซบเซา ซึ่งจะต้องช่วยกันดูแล?
ทั้งนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันตั้งแต่การประชุมย่อย เช่น การลักลอบขนถ่ายและค้าอาวุธ ซึ่งมีการจัดอบรมให้กับผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงทั้งสองฝ่าย โดยได้มีการจัดอบรมร่วมกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้สามารถทราบข้อมูลของแต่ละฝ่าย และผู้ที่จะต้องติดต่อประสานงานกัน
พล.ต.อ.อิสระพันธ์ กล่าวถึงประเด็นปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า จะต้องรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนตามแนวชายแดนทั้งสองประเทศ โดยจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนของทั้งสอง มีการจัดสายตรวจลาดตระเวนตามแนวชายแดน โดยมีความเห็นตรงกันว่าจากปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดความซบเซาทางด้านความเจริญของทั้งสองประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีการประสานงานร่วมกันตลอด
การลาดตะเวนร่วมกันนั้นได้มีการดำเนินการร่วมกันของทางตำรวจน้ำ และทางทหาร เป็นหลัก ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและอบรมร่วมกันมาโดยตลอด ส่วนเรื่องของการค้ามนุษย์นั้น ทางมาเลเซียขอศึกษารายละเอียดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณี เกี่ยวกับเด็กและสตรี ไปศึกษา หากพบว่า ในส่วนใดของเขาไม่มีก็จะได้ไปออกกฎหมายเพิ่มเพื่อให้สอดคล้องกันในเรื่องของความผิด
เช่น การส่งผู้ร้ายข้ามแดน ยกตัวอย่างกรณีการแต่งกายเลียนแบบสงฆ์ เป็นต้น ซึ่งในรายละเอียดนั้นสามารถที่จะศึกษากันได้ เพราะเป็นกฎหมายมหาชนอยู่แล้ว การดำเนินการร่วมกันนั้นจะเน้นในเรื่องของความร่วมมือระหว่างกันเป็นหลัก เพราะบริเวณชายแดนนั้นมีความสำคัญกันทั้งสองประเทศ การที่จะสามารถตัดตอนอาชญากรข้ามชาติได้ ตำรวจทั้งสองประเทศจะต้องแข็งแรงในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและร่วมกันแก้ปัญหาจะทำเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้
ด้าน Tam Sri Musa bin Dato? Haji Hassan กล่าวถึงความร่วมมือในการแก้ปัญหาชายแดน ว่า ได้มีความร่วมมือกันระหว่างกันมาโดยตลอด และทางมาเลเซียก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก แม้ว่าเราจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ตาม โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และที่สำคัญจะต้องขอความร่วมมือจากฝ่ายไทยในการส่งข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการสืบสวน
อย่างไรก็ตาม สำหรับปัญหาบัตรเครดิตปลอม ซึ่งมีการจับกุมในประเทศไทย และมีคนร้ายเป็นชาวมาเลเซียนั้น Tam Sri Musa bin Dato? Haji Hassan กล่าวว่า ในส่วนของมาเลเซียได้มีความพยายามในการแก้ปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง และมีการแก้ไขเพื่อป้องกันการใช้บัตรเครดิตปลอมโดยวิธีการฝังชิปลงไปซึ่งจะทำให้การนำไปใช้มีความยากยิ่งขึ้น รวมทั้งในเรื่องของการแก้ปัญหาการฟอกเงิน ซึ่งกฎหมายของทางมาเลเซียนั้นก็มีถึงขั้นยึดทรัพย์ด้วยเช่นกัน เพราะถือเป็นคดีที่ร้ายแรงมาก
อย่างไรก็ตาม สำหรับการประชุมครั้งต่อไปซึ่งเป็นครั้งที่ 18 สำนักงานตำรวจแห่งชาติมาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม ซึ่งจะทำให้ความร่วมมือของทั้งสองประเทศในด้านการบังคับใช้กฎหมายมีความต่อเนื่องและพัฒนาการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นอย่างแน่นอน
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์