ภูเก็ต, ภูเก็ตลุยแก้ลีมูซีน-แท็กซี่มิเตอร์ สนามบิน ยกระดับรถลีมูซีนให้ได้มาตรฐานสากล ( ข่าวภูเก็ต )
ภูเก็ตเดินหน้าแก้ปัญหารถลีมูซีน-แท็กซี่สนามบิน พร้อมยกระดับรถลีมูซีน ให้ได้มาตรการใช้รถขนาด 2000 ซีซี ขณะที่การท่าฯตกลงทำสัญญากับบริษัทแท็กซี่มิเตอร์ ให้ตั้งเคาน์เตอร์บริการในท่าอากาศยานได้ แต่สุดท้ายพบเป็นบริษัทที่ไม่มีรถเป็นของตัวเอง จัดเก็บค่าดำเนินการจากผู้ประกอบการแท็กซี่มิเตอร์ ส่วนบุคคลเที่ยวละ 40 บาท ผู้ว่าฯฉุนให้ทดลองทำ 3 เดือน
นายอุดมศักดิ์ อัศวรางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาการประกอบการรถรับจ้างภายในท่าอากาศยานภูเก็ต ซึ่งมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้ง ตำรวจ ขนส่งจังหวัด ปกครอง ผู้ประกอบการรถลีมูซีนท่าอากาศยานภูเก็ต ผู้ประกอบการรถแท็กซี่มิเตอร์ และผู้ประกอบการรถบริการสาธารณะ แอร์พอร์ตบัส เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา การให้บริการทางด้านขนส่งให้กับนักท่องเที่ยว ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ต ณ ห้องประชุมสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต
สำหรับปัญหาระหว่างผู้ประกอบการรถลีมูซีน ที่ให้บริการรับส่งนักท่องเที่ยวที่บริเวณสนามบินจังหวัดภูเก็ต และผู้ประกอบการรถแท็กซี่มิเตอร์ ที่ให้บริการในที่เดียวกัน ขณะนี้ได้ข้อยุติในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว ทั้งในเรื่องของจำนวนรถ และเรื่องของการตั้งเคาน์เตอร์ให้บริการ
ในส่วนของผู้ประกอบการรถลีมูซีน มีรถให้บริการอยู่จำนวน 135 คัน และตามสัญญาที่ทำไว้กับท่าการท่าฯนั้น ทางลีมูซีนจะมีรถให้บริการจำนวน 150 คัน ทั้งรถตู้และรถเก๋ง และจะต้องยกระดับรถให้ขึ้นไปอยู่ขนาดเครื่องยนต์ 2000 ซีซี เพื่อยกระดับการให้บริการของรถลีมูซีนให้ได้มาตรฐานสากล ส่วนรถที่มีขนาดเครื่องยนต์ต่ำกว่า 2,000 ซีซี ก็ให้ปรับลดลงไปเป็นรถแท็กซี่มิเตอร์
ขณะที่สมาคมรถแท็กซีมิเตอร์ส่วนบุคคล ซึ่งให้บริการที่บริเวณท่าอากาศยานเช่นกัน มีรถอยู่จำนวน 42 คัน ซึ่งขณะนี้สามารถเข้าไปตั้งเคาน์เตอร์ให้บริการภายในบริเวณอาคารของท่าอากาศยานได้แล้ว แต่เป็นการดำเนินการโดยบริษัท แท็กซี่มิเตอร์ จำกัด ซึ่งจะต้องเสียค่าบริหารจัดการให้บริษัทดังกล่าวเที่ยวละ 40 บาท
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมผู้ประกอบการรถลีมูซีน ซึ่งจะมีรถจำนวนหนึ่งที่จะต้องปรับลดลงมาเป็นแท็กซี่มิเตอร์ ต้องการที่จะใช้เคาน์เตอร์เดียวกับเคาน์เตอร์รถลีมูซีน ปัจจุบันเรียกแขก เพราะทางผู้ประกอบการมองว่า ถ้าไปรวมกับแท็กซี่มิเตอร์ ที่มีอยู่ปัจจุบันจะต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทที่เป็นของนายทุน และมองว่า เงินที่มีการจัดเก็บเป็นรายได้มหาศาลที่เกิดขึ้นผู้ที่ได้รับประโยชน์มีเพียงบริษัทเท่านั้น แต่ถ้าดำเนินการลงคงไว้ที่สหกรณ์รถลีมูซีน รายได้ที่นอกเหนือจะต้องจ่ายเป็นค่าเช่าเคาน์เตอร์ ให้แก่การท่าฯแล้วจะสามารถนำมาใช้และแบ่งกันในส่วนของสมาชิกสหกรณ์ได้
นอกจากนั้น ในส่วนของผู้ประกอบการแท็กซี่มิเตอร์เอง ก็ได้เรียกร้องที่จะให้มีการตั้งเคาน์เตอร์ขึ้นมาเองเพื่อที่จะไม่ต้องเสียค่าบริหารจัดการ เที่ยวละ 40 บาทให้กับบริษัทที่ตั้งขึ้น
ในการประชุมครั้งนี้ ตัวแทนบริษัท ท่าอากาศยานภูเก็ต กล่าวว่า ไม่สามารถจะดำเนินการได้ทั้ง 2 ส่วน เพราะได้มีการตกลงทำสัญญากันไปแล้ว และในส่วนของเคาน์เตอร์ที่จะให้บริการก็มีได้เพียง 2 เคาน์เตอร์เท่านั้น คือ เคาน์เตอร์ของบผู้ประกอบการลีมูซีน และเคาน์เตอร์ของบริษัทภูเก็ตแท็กซี่มีเตอร์ ส่วนบริษัทที่เข้ามาทำสัญญากับทางการท่าจะมีรถแท็กซี่ให้บริการหรือไม่ก็ตาม
สำหรับบริษัท ภูเก็ต แท็กซี่มิเตอร์ จำกัด เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมา เพื่อบริหารจัดการการให้บริการรถแท็กซี่มิเตอร์ที่บริเวณท่าอากาศยาน โดยได้มายื่นเรื่องไว้ครั้งแรก เมื่อประมาณปลายปี 2548 โดยในช่วงนั้นมีรถอยู่ในความดูแลจำนวน 4 คัน แต่ปัจจุบันบริษัทดังกล่าวไม่มีรถมาให้บริการแต่อย่างใด ทั้งนี้ ใช้วิธีการตั้งเคาน์เตอร์ให้แท็กซี่มิเตอร์ของสมาคมรถแท็กซี่มิเตอร์ส่วนบุคคลจังหวัดภูเก็ตมาวิ่งให้บริการ โดยจัดเก็บค่าบริการเที่ยวละ 40 บาท เนื่องจากกลุ่มผู้ขับรถแท็กซี่ไม่สามารถที่จะตั้งเคาน์เตอร์ได้เอง เพราะการท่าอากาศยานไม่อนุญาต
นายอุดมศักดิ์ อัศวรางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ในเบื้องต้นคงจะต้องให้เป็นแบบนี้ไปก่อน เพราะทางการท่าฯยืนยันว่า ไม่สามารถที่จะยกเลิกสัญญากับบริษัทดังกล่าวได้ แม้ว่าบริษัทดังกล่าวจะไม่มีรถในการให้บริการของตัวเองก็ตาม ซึ่งก็ต้องดำเนินการไปตามนั้นก่อน
อย่างไรก็ตาม ขอให้มีการทดลองการดำเนินการก่อนเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อพิจารณาผลการดำเนินการว่าเป็นอย่างไร เป็นไปตามข้อตกลงหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามข้อตกลง ก็คงจะต้องยกเลิกสัญญา ซึ่งเรื่องนี้ตนก็ไม่เข้าใจในขั้นตอนการปฏิบัติ เดิมคิดว่าบริษัทที่เข้ามาดำเนินการนั้นเป็นบริษัท ที่ตั้งขึ้นจากการรวมตัวของแท็กซี่ส่วนบุคคล แต่เมื่อรับทราบจากผู้ประกอบการทั้งสองฝ่ายกลายเป็นบริษัท ที่ตั้งขึ้นมาโดยไม่มีรถเป็นของตัวเอง
ทั้งนี้ หากแบบนี้ต่อไปตนก็ตั้งบริษัท อส.ขึ้นมา และมาขอเช่าพื้นที่ เพื่อบริหารจัดการรถแท็กซี่มิเตอร์แทน เพราะผู้ดำเนินการไม่จำเป็นต้องมีรถเป็นของตัวเอง หรือใครๆ ก็ตั้งบริษัทขึ้นมาดำเนินการได้ ซึ่งจริงแล้วการแก้ไขปัญหารถที่ให้บริการในสนามบิน ไม่ได้ต้องการให้ออกมาในรูปนี้ เพราะตนต้องการให้ทุกคนสามารถประกอบอาชีพได้ โดยไม่ต้องเสียค่าหัวคิวให้กับใคร
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์