ภูเก็ต, ?GLOBE? ประชุมสิ่งแวดล้อมนานาชาติที่ภูเก็ต ( ข่าวภูเก็ต )
สมาชิกโครงการ GLOBE ประชุมเชิงปฏิบัติการ สำรวจทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นานาชาติ ที่ภูเก็ต
วันนี้ (27 ก.ค.) ที่ห้องประชุมสถาบันวิจัย และพัฒนาทรัพยากรทางทะเล อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายยงยุทธ ติยะไพรัช รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสำรวจทรัพยากรชายฝั่งทะเล ซึ่งสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จัดขึ้น โดยมีครู นักเรียน ผู้ที่เกี่ยวข้อง และสมาชิกโครงการ GLOBE จากประเทศต่างๆ เช่น แคเมอรูน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อาร์เจนตินา บาห์เรน ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
การประชุมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นผู้ประสานงานของแต่ละประเทศ นักวิทยาศาสตร์ นักการศึกษา และครู ที่เข้าร่วมโครงการได้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน และแสดงผลงานวิจัยที่ได้ดำเนินการมา ผลการดำเนินการงานของแต่ประเทศ สร้างเครือข่ายโครงการ GLOBE ร่วมกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ในการดำเนินงานโครงการ GLOBE ในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนนำข้อมูลจากการประชุมที่ได้รับมาใช้ในการวางแผนการดำเนินงานโครงการ GLOBE ในประเทศไทย
ศ.ดร.สุรินทร์ พงศ์ศุภสมิทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ GLOBE (Global Learning and Observations to Benefit the Environment) เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2542 โดยมี สสวท.ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างประเทศ
ที่ผ่านมา โครงการ GLOBE ได้ดำเนินการโครงการโดยการอบรมครูมาแล้วจำนวนหนึ่ง ซึ่งโครงการดังกล่าวมุ่งเน้นให้นักเรียน สังเกตตรวจวัดและเก็บข้อมูลสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น ทั้งในภาคสนาม และในห้องปฏิบัติการ แล้วส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตไปยังศูนย์ประมวลผลกลางของ GLOBE และใช้ฐานข้อมูลนั้นในการวิเคราะห์ สืบเสาะหาความรู้ และค้นคว้าวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ ครู และนักเรียนทั่วโลก
อันจะส่งผลต่อการพัฒนาผู้เรียน ไปสู่จุดมุ่งหมายสูงสุดของการปฏิรูปการศึกษา และการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระดับท้องถิ่น และในระดับโลกนั้น สสวท.ได้ร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย และหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนบางส่วน ในการจัดการอบรมครูและการขยายผลโครงการ GLOBE ไปทั่วประเทศ
?สสวท.ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการประชุม GLOBE International Train the Trainer Workshop และ GLOBE International Marine Hydrology Symposium
อบรมวิทยากรในระดับมาตรฐานสากลของ GLOBE International ที่มีสิทธิจะให้การอบรมครูในประเทศของตนต่อไปได้ ตามกฎเกณฑ์ของ GLOBE จำนวน 80 คน ทำให้โครงการ GLOBE สหรัฐอเมริกาได้เห็นศักยภาพในการดำเนินกิจกรรมโครงการ GLOBE ในประเทศ จึงให้ประเทศเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้?
อย่างไรก็ตาม นอกจากการประชุม The Exploration of Marine Coastal Resources Symposium แล้ว ในระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม - 4 สิงหาคม 2549 นี้ด้วย อันจะทำให้มีการสร้างเครือข่ายโครงการ GLOBE ร่วมกับประเทศอื่นๆ มหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการขยายผลการอบรมครู และการดำเนินงานโครงการ GLOBE ในประเทศไทย ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กับนักวิทยาศาสตร์โครงการ GLOBE นักการศึกษา และครู จากโครงการ GLOBE ทั่วโลก ทำให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการ GLOBE และได้แนวทางการดำเนินกิจกรรมโครงการ GLOBE ที่ประสบความสำเร็จเพิ่มมากขึ้น
รวมทั้งได้แนวทางการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จจากประเทศที่เข้าร่วมประชุม เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินกิจกรรมโครงการ GLOBE ในประเทศไทยเพื่อให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ นายยงยุทธ ติยะไพรัช รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวภายหลังการเป็นประธานเปิดการประชุม ว่า เป็นสิ่งที่น่าเสียดายในเรื่องการสร้างพันธมิตรที่เป็นแนวร่วมทางวิชาการ ว่าด้วยการจัดเก็บข้อมูลพื้นฐาน การรายงานสภาวะแวดล้อมของโลก แม้ว่าจะไม่มีผลทางการเมือง หรือทางเศรษฐกิจโดยตรง แต่เป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจและสังคมการเมือง เป็นเรื่องความมั่นคงของมนุษยชาติอย่างแท้จริง ซึ่งอยากที่จะให้ยกระดับให้ความสำคัญเป็นระดับประเทศ โดยจะนำผลที่ได้จากการสัมมนาไปขยายผลต่อสาธารณชนให้มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาจะเป็นการรวมตัวกันเฉพาะอาสาสมัคร และนักวิชาการเฉพาะเจาะจง
เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องความมั่นคงของมนุษยชาติ เพราะหากทรัพยากรต่างๆ ถูกใช้ไปมากก็จะกระทบกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็จะมาทำร้ายมนุษย์ เพราะมันต้องมีการปรับสภาพตัวเองตลอด ทั้งภาวะโลกร้อน ป่าไม้ถูกทำลาย ความผันผวนทางระบบนิเวศที่เกิดขึ้น จากพฤติกรรมของมนุษย์ที่บริโภคทรัพยากรมากเกินไป
?หากเราสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ ก็จะมีการรวบรวมข้อมูล เพื่อวิเคราะห์ และหาแนวทางในการแก้ไข เพื่อให้โลกเกิดความยั่งยืน ซึ่งจากที่ได้สัมผัสกับหัวหน้าทีม ซึ่งเป็นชาวต่างชาติและดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ทั้งการเรียนรู้ การสังเกต และการรายงานต่างๆ จากหลายประเทศ จะบังเกิดผลเป็นอย่างมาก ซึ่งการเลือกประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง?
นายยงยุทธ กล่าวถึงผลที่เกิดขึ้นจากการสัมมนาดังกล่าว ว่า สิ่งแรกที่ประสบความสำเร็จ คือ ความร่วมมือ ซึ่งยกจากระดับชุมชนมาเป็นระดับชาติ และระดับนานาชาติ นอกจากนี้ ยังเป็นการกระตุ้นให้สถาบันการศึกษาได้มีการตื่นตัวในการที่จะเรียนรู้ วิจัย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางด้านวิชาการจากประเทศอื่นๆ ที่มีความก้าวหน้ามากกว่า รวมทั้งทำให้เกิดพันธมิตรทางด้านสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้หาข้อสรุป และแนวทางที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน ระหว่างมนุษยชาติกับสิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากร ซึ่งเป็นไปตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนได้นั้นจะต้องสร้างความสมดุล
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์