ภูเก็ต, ภูเก็ตยืดเวลาประกาศล้อมคอกดำน้ำอีก7วัน ( ข่าวภูเก็ต )
ซีอีโอภูเก็ตเชิญผู้ประกอบการดำน้ำ รับฟังข้อเสนอแนะร่างประกาศควบคุมธุรกิจดำน้ำ ที่ต้องได้รับใบอนุญาตจากจังหวัดภูเก็ตเท่านั้น ถึงจะประกอบการได้ ให้เวลาผู้ประกอบการเสนอแนะ 7 วัน ก่อนประกาศอย่างเป็นทางการ
วันนี้ (26 ก.ค.) นายอุดมศักดิ์ อัศวรางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เชิญผู้ประกอบการธุรกิจดำน้ำในพื้นที่ภูเก็ต สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ททท. ขนส่งทางน้ำภูมิภาคที่ 5 ภูเก็ต ประมงจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานเกี่ยวข้อง ประชุมพิจารณาร่างประกาศจังหวัดภูเก็ต เรื่อง ?การกำหนดห้ามการประกอบกิจกรรม ที่เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลจังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2549 ที่จังหวัดภูเก็ต กำลังจะออกเป็นประกาศ เพื่อควบคุมตรวจสอบธุรกิจดำน้ำ ที่ให้บริการอยู่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต
ร่างประกาศดังกล่าว มีสาระสำคัญ สรุปได้ว่า ด้วยจังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติทางทะเล ที่มีความงดงาม สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ให้เข้ามาท่องเที่ยว และประกอบกิจกรรมชมความงามตามธรรมชาติ โดยเฉพาะกิจกรรมดำน้ำชมความสวยงามของปะการังในท้องทะเลภูเก็ต ก็เป็นกิจกรรมหนึ่ง ที่มีความนิยมอย่างมาก ในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งที่เป็นต่างชาติและคนไทย
บางครั้งการประกอบการดังกล่าว ก็สร้างผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลของจังหวัดภูเก็ตในระยะยาว และยังมีผู้ประกอบการอีกหลายบริษัท ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปดูแล
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จังหวัดภูเก็ตได้เล็งเห็นถึงสภาพปัญหา ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จึงได้ใช้อำนาจบริหารจัดการแบบบูรณาการออกประกาศดังกล่าว โดยอาศัยอำนาจตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ด้วยระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2546 ข้อ 7 ข้อ 8 (1) ที่ออก โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (8) แห่งพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2543 และมาตรา 38 วรรค 4 แห่งพ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดินพ.ศ. 2543 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดินฉบับที่ 5 และประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2546 ข้อ 7
ตลอดจนพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ที่ห้ามการประกอบการ เก็บหรือทำลายปะการัง ซากปะการัง หรือ หินปะการังถูกทำลายเสียหาย ในบริเวณพื้นที่ทะเลจังหวัดภูเก็ต โดยไม่ได้รับอนุญาตจากจังหวัดภูเก็ต ได้แก่ การประกอบการกิจกรรมดำน้ำทุกชนิด และการประกอบกิจกรรมแข่งเรือทุกชนิด
ทั้งนี้ การดำเนินการกิจกรรมดังกล่าวข้างต้น จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้มาขึ้นทะเบียนเป็นผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการต่อจังหวัดภูเก็ต โดยผู้ขออนุญาตจะต้องปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด หากมีการรายงานหรือตรวจพบจากคณะทำงานของจังหวัดภูเก็ตที่มีหน้าที่ ดูแลเรื่องการประกอบกิจกรรมตามคำสั่งจังหวัดภูเก็ตก็จะทำการเพิกถอนการอนุญาตประกอบการตามประกาศฉบับนี้ และห้ามบุคคล ประกอบกิจกรรมดังกล่าวในบริเวณทะเลจังหวัดภูเก็ต
และหากมีการฝ่าฝืนต่อประกาศฉบับดังกล่าว บุคคลนั้นอาจจะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 99 และ 100 แห่งพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมพ.ศ. 2535 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 16 ประกอบมาตรา 47 แห่งพรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 จำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ หรือมาตรา 8 ประกอบด้วยมาตรา 34 แห่งพ.ร.บ.การทำงานคนต่างด้าว พ.ศ. 2521 จำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 5 พันบาท
ร่างฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 30 วัน นับตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป ทั้งนี้ให้ผู้ที่มีความประสงค์จะประกอบกิจกรรมตามประกาศฉบับนี้ ให้มาขึ้นทะเบียนภายใน 60 วัน นับจากวันประกาศ
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย โดย นายวิชัย เรืองจารุวัฒนา กรรมการสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่ววว่า สมาคมต้องการที่จะให้ภูเก็ตเป็นจุดหมายปลายทางของนักดำน้ำจากทั่วโลก แต่อยากจะให้การลงทุนดังกล่าว กระจายมายังกลุ่มนักลงทุนที่เป็นคนไทยบ้าง เพราะในปัจจุบันธุรกิจดำน้ำ จะตกอยู่ในมือของคนต่างชาติ 80-90% ซึ่งการที่จะให้คนไทยเข้าสู่ธุรกิจดำน้ำมากขึ้น จำเป็นที่จะต้องมีการฝึกอบรมไดร์มาสเตอร์ที่เป็นคนไทยให้มากขึ้น และเห็นด้วยที่ทางจังหวัดภูเก็ต ออกมาตรการมาควบคุมและตรวจสอบการประกอบการธุรกิจดำน้ำ เพราะจะทำให้การตรวจสอบง่ายขึ้นหากเกิดปัญหาอะไรขึ้นมา
ด้านนายนิติ คงกรุด ตัวแทนจากททท. กล่าวว่า เห็นด้วยกับประกาศของจังหวัดภูเก็ต เพราะกฎหมายของททท.ที่ควบคุมธุรกิจดำน้ำนั้นคุ้มครองได้แค่นักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ไม่ได้คุ้มครองไปถึงสิ่งแวดล้อมด้วย และการประกอบการดำน้ำของชาวต่างชาติ มีการจองซื้อทัวร์ผ่านทางอินเทอร์เนต โอนเงินระหว่างประเทศ รายได้ที่เกิดขึ้นไม่ได้ตกอยู่ในประเทศไทยเลย
อย่างไรก็ตาม การประชุมในครั้งนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เนื่องจากทางจังหวัดภูเก็ตได้นำร่างประกาศมาแจกให้ผู้เข้าร่วมประชุม ในเวลาการประชุมประกอบกับเอกสารที่แจกเป็นภาษาไทยทั้งหมด แต่ผู้ประกอบการ ที่เข้าร่วมประชุมเป็นคนต่างชาติ ทางผู้ว่าฯได้ให้เวลาผู้ประกอบการไปทำความเข้าใจกับประกาศดังกล่าว และเสนอขอคิดเห็นมายังจังหวัดภายใน 7 วันจากนี้
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์