แหล่งรวม ธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน และ ข้อมูล การท่องเที่ยว ในแถบ อันดามัน
 
เข้าสู่ระบบ G! Builder
เลือกจังหวัด
ข่าวสาร ข่าวทั่วไป ในแถบ อันดามัน ( ภูเก็ต, กระบี่, ระนอง, ตรัง, พังงา, สตูล )

ภูเก็ต, ภูเก็ตล้อมคอก ?ธุรกิจดำน้ำ? เปิดต้องมีใบอนุญาตจากจังหวัดเท่านั้น ( ข่าวภูเก็ต )

ข่าวภูเก็ต : ภูเก็ตล้อมคอก ?ธุรกิจดำน้ำ? เปิดต้องมีใบอนุญาตจากจังหวัดเท่านั้น
นิวิทย์ อรุณรัตน์ ปลัดจังหวัดภูเก็ต

จังหวัดภูเก็ตเตรียมออกประกาศ คุมธุรกิจดำน้ำที่มีมากกว่า 100 แห่ง ให้อยู่ในกรอบ หลังปล่อยมาเป็นเวลานาน ระบุเปิดให้บริการดำน้ำได้ ต้องมีใบอนุญาตประกอบการจากจังหวัดเท่านั้น แค่จดทะเบียนกับททท.ไม่ได้แล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถตรวจสอบและควบคุมได้ ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว และคนที่เข้ามาประกอบการ
วันนี้ (24 ก.ค.) ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 (ภูเก็ต) ได้จัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง \"แนวทาง ในการกำหนดมาตรการการใช้ประโยชน์แหล่งดำน้ำ ครั้งที่ 1 ณ โรงแรมภูเก็ต เอส ที จ.ภูเก็ต ซึ่งมีผู้ประกอบการธุรกิจดำน้ำ ครูสอนดำน้ำ ร้านดำน้ำ ชาวประมง ผู้ประกอบการเรือดำน้ำ ในพื้นที่ 3 จังหวัดอันดามัน ภูเก็ต พังงา และกระบี่ เข้าร่วมประมาณ 80 คน โดยมีนายนิวิทย์ อรุณรัตน์ ปลัดจังหวัดภูเก็ต เป็นประธาน
การสัมมนาดังกล่าว เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการดำน้ำทั้ง 3 จังหวัด ในการที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หาข้อสรุปเกี่ยวกับวิธีการ แนวทางมาตรการ กำหนดกติการ่วมกัน เพื่อนำไปสู่การยกร่างระเบียบ กติกา หรือข้อกำหนดในการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ในการประกอบธุรกิจดำน้ำในภูเก็ต
ทั้งนี้เนื่องจากจังหวัดภูเก็ต กำลังจะยกร่างออกประกาศควบคุมธุรกิจดำน้ำทั้งหมดในพื้นที่ภูเก็ต ให้สามารถที่จะตรวจสอบและควบคุมได้ เพราะที่ผ่านมา การประกอบธุรกิจดำน้ำในภูเก็ต เพียงแต่ผู้ประกอบการไปจดทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวต่อททท. ก็สามารถประกอบการได้แล้ว โดยที่หน่วยงานราชการ ไม่สามารถที่จะทราบได้เลยว่า การประกอบการเป็นอย่างไร นำนักท่องเที่ยวไปดำน้ำที่จุดใดบ้าง และเมื่อนำนักท่องเที่ยวไปแล้ว ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติใต้น้ำมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งรายได้ที่เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน ผู้ที่มาดูแลการดำน้ำได้ผ่านการฝึกมาอย่างดีหรือไม่
นายนิวิทย์ อรุณรัตน์ ปลัดจังหวัดภูเก็ต กล่าวกับผู้ประกอบการธุรกิจดำน้ำที่เข้าร่วมสัมมนาว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายอุดมศักดิ์ อัศวรางกูร ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อทำการศึกษารายละเอียดและยกร่างการควบคุมธุรกิจดำน้ำในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยมีปลัดจังหวัดเป็นหัวหน้าคณะทำงาน ทั้งนี้เพราะจังหวัดต้องการที่จะเข้ามาควบคุมธุรกิจดำน้ำที่มีเป็นจำนวนมาก แต่ขาดการควบคุมจากหน่วยงานราชการ
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาจังหวัดได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นททท. เจ้าท่าฯ ศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง จัดหางานจังหวัด และผู้ประกอบการบางส่วน ร่วมหารือถึงมาตรการในการที่จะควบคุมธุรกิจดำน้ำ ให้อยู่ในกรอบที่กำหนดให้ง่ายต่อการตรวจสอบ
ในที่ประชุม ได้ข้อสรุปว่า ผู้ประกอบการที่จะทำธุรกิจดำน้ำได้ จะต้องมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจดำน้ำจากจังหวัดภูเก็ตก่อน ไม่ใช่เพียงแค่จดทะเบียนธุรกิจนำเที่ยว กับททท.ก็สามารถประกอบการได้เหมือนที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ เพราะไม่สามารถควบคุมได้ว่า ธุรกิจดำน้ำดังกล่าวประกอบการที่ไหน ทำลายทรัพยากรใต้ทะเลหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน นำนักท่องเที่ยวเข้ามามากน้อยแค่ไหน รายได้ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรซึ่งจะผลในด้านการจัดเก็บภาษี และบุคลากรชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานมีใบอนุญาตทำงานหรือไม่ ซึ่งเมื่อบริษัทดำน้ำมาขึ้นทะเบียน และมีใบอนุญาต บริษัทดำน้ำจะต้องแจ้งให้จังหวัดทราบ ว่าประกอบการที่จุดใดบ้าง นำนักท่องเที่ยวลงไปดำน้ำกี่คน ที่จุดไหน ไปกี่วันและรายได้ทีเกิดขึ้นด้วย
การพิจารณา จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณา 3 ชุด คือ คณะทำงานที่พิจารณาการออกใบอนุญาตธุรกิจดำน้ำ ที่จะทำหน้าที่ ในการพิจารณาออกใบอนุญาตให้เข้ามาประกอบธุรกิจน้ำ คณะทำงานพิจารณาการประกอบการ และคณะทำงานที่จะติดตามตรวจสอบการประกอบการ ว่าอยู่ในกรอบที่กำหนดหรือไม่
นายนิวิทย์ กล่าวอีกว่า ในวันพุธนี้ ผู้ว่าฯจะประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการอีกครั้งหนึ่ง เพื่อรับฟังความคิดเห็น ถึงจุดเด่นและจุดด้อย ของประกาศจังหวัดภูเก็ต ก่อนที่จะประกาศใช้ในพื้นที่ภูเก็ต และเสนอต่อไปยังรัฐบาล ให้ควบคุมธุรกิจดำน้ำทั่วประเทศ ทั้งนี้การดำเนินการของจังหวัด ไม่ต้องการที่จะเข้าไปทำให้ผู้ประกอบการเกิดความยุ่งยาก ในการประกอบการ แต่ต้องการที่จะให้เกิดความถูกต้อง และสามารถควบคุมการประกอบการเท่านั้น
ผู้ประกอบการไทย-ต่างชาติเห็นด้วยคุมเข้มดำน้ำ
ขณะที่ Mr.Alistair Beveridge กรรมการผู้จัดการ บริษัท SEA KING จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจดำน้ำในภูเก็ต กล่าว การที่ทางจังหวัดภูเก็ต จะออกมาตรการมาควบคุมธุรกิจดำน้ำเป็นสิ่งที่ดี เพราะต่อไปการประกอบการธุรกิจดำน้ำในภูเก็ตจะได้มีมาตรฐานทัดเทียมกันทั้งหมด โดยเฉพาะในส่วนของครูสอนไดรฟ์มาสเตอร์ จะได้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น
ในปัจจุบันต้องยอมรับว่า การประกอบการดำน้ำบางส่วน มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเล กรณีของเรือเร็วที่นำนักท่องเที่ยวเข้าไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งตนไม่อยากให้ผู้ประกอบการ คำนึงถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากจนเกินไป อยากให้มีแต่นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ เข้าไปมากกว่ามีแต่ปริมาณ
ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาดำน้ำนั้น ในช่วงนี้มีน้อยเพราะเป็นช่วงโลว์ซีซัน ไม่สามารถประกอบการดำน้ำได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงไฮซีซัน ที่กำลังจะมาถึงนี้ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวยุโรป ใช้บริการดำน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน และในปัจจุบันนักท่องเที่ยวคนไทย นิยมที่จะดำน้ำเพิ่มสูงขึ้นมาก และมีอัตราส่วนที่เพิ่มสูงขึ้น กว่านักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยซ้ำ
ส่วนรายได้ที่เกิดขึ้นจากธุรกิจดำน้ำในภูเก็ตที่มีประมาณ 100 กว่าบริษัท ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน แต่ยอมรับว่ารายได้มีสูงเพราะนักท่องเที่ยวที่ไปดำน้ำจะเป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง อย่างกรณีไปดำน้ำที่สิมิลัน 2 วัน ตกคนละประมาณ 25,000 บาท และหากนอนค้างในเรือ 5-6 วันจะอยู่ที่ 25,000-50,000 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับมาตรฐานของเรือ
ด้านนายปัญญา งามสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไดร์มาสเตอร์ จำกัด กล่าวว่า เห็นด้วยกับทางจังหวัดภูเก็ตที่จะออกมาตรการมาควบคุมธุรกิจดำน้ำ เพราะจะได้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ที่สำคัญสามารถที่จะควบคุมได้ว่าบริษัทใดนำนักท่องเที่ยวไปดำน้ำที่ไหนบ้าง ไปกี่วัน ซึ่งทุกวันนี้หน่วยงานราชการไม่สามารถที่จะทราบได้เลย
ขณะที่นายประเสริฐ บ้านเมือง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ภูเก็ต โอเชี่ยน ไดเวอร์ จำกัด กล่าวว่า เป็นความคิดที่ดี ที่จะได้ไปควบคุมดูแลให้บริษัทดำน้ำต่างๆ ที่ประกอบการอยู่ในพื้นที่ภูเก็ต เข้ามาอยู่ในกรอบและกติกา เพราะปัจจุบันนี้มีชาวต่างชาติที่เข้ามาประกอบการได้สะดวกและไม่มีการควบคุม ทำให้มีการร้องเรียนเรื่องบริษัทดำน้ำ เข้าไปทำลายทรัพยากรธรรชาติใต้ท้องทะเล หากมีการควบคุม จะทำให้นำบริษัทที่ทำไม่ถูกต้องมาดำเนินการตามกฎหมายได้ เพราะปัจจุบันบริษัทดำน้ำในภูเก็ตส่วนใหญ่ 80-90% เป็นของชาวต่างชาติ
ส่วนสถานการณ์ธุรกิจดำน้ำนั้น คาดว่าในช่วงไฮซีซันนี้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้น เพราะขณะนี้มีการจองเข้ามาแล้ว สำหรับของบริษัทนั้นมีเรือนอนออกไปดำน้ำได้หลายวัน มีนักท่องเที่ยวใช้บริการปีละ 500-600 คน โดยแหล่งดำน้ำที่นิยมคือสุรินทร์และสิมิลัน

ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์

Valid XHTML 1.0 Transitional Valid CSS!
ทะเบียนพาณิชย์อีเลคทรอนิคส์ เลขที่ 8373549000215