แหล่งรวม ธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน และ ข้อมูล การท่องเที่ยว ในแถบ อันดามัน
 
เข้าสู่ระบบ G! Builder
เลือกจังหวัด
ข่าวสาร ข่าวทั่วไป ในแถบ อันดามัน ( ภูเก็ต, กระบี่, ระนอง, ตรัง, พังงา, สตูล )

ภูเก็ต, ปรับภูมิทัศน์?หาดกมลา?วุ่น-อบต.ไม่รับมอบอ้างติดงบฯดูแล ( ข่าวภูเก็ต )

ข่าวภูเก็ต : ปรับภูมิทัศน์?หาดกมลา?วุ่น-อบต.ไม่รับมอบอ้างติดงบฯดูแล
สภาพของหาดกมลาหลังปรับภูมิทัศน์

ปรับปรุงภูมิทัศน์หาดกมลาส่อเค้าวุ่น สร้างเสร็จส่งมอบให้ท้องถิ่นไม่ได้ เมื่ออบต.กมลา ออกมาปฏิเสธความหวังดีของททท. ที่ใช้งบฯ 86 ล้านบาท ปรับปรุงชายหาดทั้งทำทางเท้า ปลูกต้นมะพร้าวริมหาด สร้างสวนสาธารณะ อ้างไม่เห็นด้วย ตั้งแต่เริ่มโครงการและต้องจัดสรรเงินมาดูแลหลังรับโอน ลั่นรับเมื่อมีการตั้งกองทุนมาดูแลเท่านั้น ขณะที่ททท.และผู้บริษัทผู้ออกแบบ ยืนยันก่อนลงมือรับฟังความเห็น จากชาวบ้านและผู้บริหารอบต.แล้วพร้อมยืนยัน แบบที่ออกเกิดประโยชน์สูงสุดกับคนในพื้นที่
วันนี้ (30 มิ.ย.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ร่วมกับบริษัท กรุพธรี ดีไซน์ จำกัด ผู้ออกแบบการปรับภูมิทัศน์หาดกมลา และบริษัท คอร์เดีย จำกัด ผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์หาดกมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต จัดประชุมชี้แจง การส่งมอบพื้นที่และการใช้ประโยชน์สาธารณูปโภค สาธารณูปการ และอาคาร โครงการฟื้นฟูภูมิทัศน์หาดกมลา ณ โรงแรมกมลา เบย์ การ์เด้นท์ รีสอร์ท โดยเจ้าหน้าที่จากอบต.กมลา และชาวบ้านกมลาที่ไม่เห็นด้วยกับการปรับปรุงภูมิทัศน์หาดกมลา เข้าร่วมประมาณ 50 คนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น
นายพิทักษ์ วรรณศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุพธรี ดีไซน์ ได้นำเสนอภาพรวมการปรับปรุงภูมิทัศน์หาดกมลา ว่า การปรับปรุงภูมิทัศน์หาดกมลา ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามินั้น ได้ดำเนินการในระยะทาง 1.5 กิโลเมตร ในพื้นที่ปากคลองปากบางไปจนถึงกูโบร์ ด้วยการจัดทำจุดชมวิวหัวมุนหน้าโรงแรมกมลา การจัดสวนสาธารณะ
ประกอบด้วย ห้องน้ำชาย-หญิง อย่างละ 1 หลัง ศาลารำลึก สนามเด็กเล่น ลานออกกำลังกาย ป้ายซื่อสวนสาธารณะ กำแพงประดับ ลานประติมากรรม ทางเดินเท้า จุดลานบริการนักท่องเที่ยว 1,2,3,4 (เป็นพื้นที่รองรับนักท่องเที่ยวเวลาหนีภัย) และทางหลบหนีภัย ความยาว 855 เมตร เป็นผิวหยาบ คอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งพื้นที่แต่จุดได้มีการปรับภูมิทัศน์ โดยปลูกต้นไม้ประเภทพันธุ์ไม้พื้นเมือง เช่น ต้นมะพร้าว สำระง่า ผักบุ้งทะเล เตยทะเล ต้นสนทะเล รวมทั้งอุปกรณ์ส่องสว่าง และป้ายแสดงตำแหน่งและป้ายเส้นทางหนีภัย
ทั้งนี้ ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและได้ส่งมอบให้กับททท.เมื่อวันที่ 29 พ.ค.ด้วยงบประมาณการก่อสร้างทั้งสิ้น 86 ล้านบาท
หลังจากนั้น ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งสิ่งที่ทางอบต.กมลาและประชาชนในพื้นที่เป็นห่วงมากที่สุด คือ การบริหารจัดการและดูแลบำรุงรักษา ภายหลังททท.ส่งมอบให้อบต.เป็นผู้ดูแล เพราะเกรงกันว่า อบต.จะไม่มีงบปรมาณในการดูแล ทั้งในเรื่องของสวนสาธารณะ ค่าไฟฟ้าแสงสว่าง ค่าประปา และอื่นๆ
นายสัจพล ทองสม ปลัดอบต.กมลา กล่าวว่า อบต.กมลา ไม่อยากได้โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ที่ททท.ดำเนินการ เพราะเป็นห่วงในเรื่องของค่าใช้จ่าย ที่จะเกิดขึ้นในการดูแลรักษาภายหลังททท.ได้ส่งมอบให้กับอบต.แล้ว และในวันนี้ผู้บริหารของอบต.กมลา ก็ไม่มาร่วมประชุมเพราะเกรงว่า ททท.จะส่งมอบโครงการดังกล่าวให้ ซึ่งในวันที่ 24 ก.ค. ที่ททท.จะส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดให้อบต. อบต.คงจะไม่รับมอบ ซึ่งอบต.จะรับมอบโครงการดังกล่าว เมื่อมีการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาบริหารจัดการโครงการเท่านั้น ที่มีฝ่ายอบต. ชาวบ้าน และททท.เข้ามาร่วมกันดูแล
ขณะที่นายวิฑูรย์ ลาดตะเวน ชาวบ้านกมลา กล่าวว่า การทำประชาพิจารณาของททท.และบริษัทออกแบบเมื่อครั้งที่ผ่านมาไม่เป็นผล ซึ่งตนไม่แน่ใจเหมือนกันว่า แบบที่ออกมานั้นเป็นการปรับปรุงภูมิทัศน์ หรือเป็นการทำลายสภาพธรรมชาติของหาดกมลา ตนอยู่ที่กมลามา 30 ปี ทราบดีถึงสภาพของน้ำขึ้นและน้ำลง ว่าขึ้นมาถึงหาดมากน้อยแค่ไหน พอใจกับผลงานการออกแบบของททท.แต่ขอติง ในส่วนที่อยู่หน้าโรงแรมกมลา ที่ยื่นออกไปในทะเลจำนวนมาก ตรงจุดนี้ไ ม่ทราบว่าททท.ทำเพื่อประโยชน์ของชาวกมลา หรือประโยชน์ของใครกันแน่ จึงอยากให้ททท.ทำประชาพิจารณ์ใหม่อีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้ ชาวบ้านและผู้ประกอบการบางส่วน ยังได้แสดงความคิดเห็นเป็นห่วงในเรื่องของทางเท้าที่ทำกว้างถึง 2.5 เมตร เป็นพื้นที่คอนกรีต ทำให้มีผลสะท้อนกลับจากนักท่องเที่ยวว่าไม่ชอบการทำทางน้ำดังกล่าว เพราะไม่มีความเป็นธรรมชาติ และปัญหาสำคัญ ขณะนี้มีกลุ่มวัยรุ่นใช้ทางเท้าที่อยู่ริมหาดเป็นทางมอเตอร์ไชค์ สร้างเสียงรบกวน ให้กับนักท่องเที่ยวมาก รวมทั้งป้ายบอกทางหนีภัยสึนามิมีมากเกินไป ซึ่งให้นักท่องเที่ยวรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยในการเดินทางมาท่องเที่ยวที่กมลา
ด้านททท.และบริษัทที่ปรึกษา ได้ชี้แจงข้อสงสัยของชาวบ้านและอบต.กมลา ว่า ก่อนลงมือปรับปรุงภูมิทัศน์หาดกมลา บริษัทออกแบบได้ประสาน ไปยังททท.และอบต.กมลาให้การเชิญชาวบ้านมารับฟังความคิดเห็น ของแบบการปรับภูมิทัศน์ ซึ่งผู้บริหารของอบต.กมลาได้นัดในเวลา 21.00 น.
บริษัทยืนยันว่า การออกแบบดังให้ความสำคัญต่อการใช้งานของคนในพื้นที่ และยืนยันว่า การออกแบบดังกล่าวทำดีที่สุดแล้ว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนในพื้นที่ และอบต.กมลาสามารถที่จะขอใช้เงินกองทุน ในการดูแลแหล่งท่องเที่ยว ผ่านทางททท.และสำนักพัฒนาการท่องเที่ยวได้ ในกรณีที่เป็นห่วงเรื่องค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาภูมิทัศน์ ซึ่งขณะนี้ทางบริษัทผู้รับก่อสร้างกำลังคำนวณค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเพื่อให้ทางอบต.กมลาตั้งงบประมาณดูแลต่อไป
ส่วนปัญหาเรื่องทางเท้าที่มีความกว้างถึง 2.5 เมตร และเกรงว่าจะทำลายสภาพธรรมชาตินั้น บริษัทผู้ออกแบบชี้แจงว่า ที่ต้องทำทางเท้ากว้างถึง 2.5 เมตร ได้คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก เพื่อให้รถยนต์สามารถเข้าไปรับผู้ป่วย และประชาชน ในช่วงเกิดอุบัติเหตุที่หาดกมลาได้และได้ทำพื้นที่กว้างไว้ทั้งหมด 4 จุด คือ ที่บริเวณคลองปากบาง สวนสาธารณะและบริเวณรอยต่อกุโบร์ เพื่อให้มีการขนถ่ายผู้ป่วย และประชาชนได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
รวมทั้งที่มีการทำทางทางเท้า ยื่นลงไปบนหาดที่บริเวณหน้าโรงแรมกมลา เพราะที่ดินที่อยู่เลยหาดออกไปจะเป็นที่ดินที่มีข้อพิพาท ระหว่างอบต.กมลากับเอกชน ซึ่งศาลสั่งไม่ให้ดำเนินการอะไร การก่อสร้างจึงต้องยื่นลงไปที่ชายหาด ส่วนป้ายแสดงเส้นทางหนีภัยนั้น ยืนยันว่าดำเนินการตามหลักสากล
สำหรับกรณีที่ทางอบต.กมลา ออกมาแสดงจุดยืนที่จะไม่รับมอบพื้นที่ จากททท. นายวันชัย เรืองอุดม ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า อบต.กมลาจะปฎิเสธการรับมอบพื้นที่จากททท.หลังปรับปรุงภูมิทัศน์แล้วเสร็จไม่ได้ เพราะก่อนหน้าที่อบต.กมลา ได้ส่งมอบพื้นที่ให้ททท.ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ และตามกฎหมายเมื่อปรับปรุงแล้วเสร็จททท.จะต้องมอบพื้นที่ให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลต่อไป
อย่างไรก็ตาม ภายหลังรับฟังความเห็นจากชาวบ้านแล้ว ททท. บริษัทผู้ออกแบบ และบริษัทรับเหมาก่อสร้างได้นำสื่อมวลชนลงไปดูสภาพพื้นที่ ที่มีการปรับปรุงภูมิทัศน์แล้วเสร็จ โดยการปรับปรุงภูมิทัศน์นั้น ได้มีการทางเท้าเป็นซีเมนต์กว้าง 2.5 เมตร ตลอดระยะทาง 1.5 กิโลเมตร บางจุดทางเดินจะอยู่ด้านหลังต้นมะพร้าว ที่ปลูกสองแถวตลอดแนวชายหาด บางช่วงอยู่หลังต้นมะพร้าว มีไฟฟ้าส่องสว่างตลอดเส้นทางเท้า ซึ่งได้ออกแบบเสาไฟได้สวยงามสอดคล้องกับสภาพพื้นที่
บางจุดทางเท้าได้ยื่นลงไปบนชายหาดมากพอสมควร เช่น บริเวณหน้าใกล้กับโรงแรมกมลาที่มีปัญหาเรื่องที่ดิน ส่วนต้นมะพร้าวที่เกรงกันว่าน่าที่จะตาย เพราะทนสภาพน้ำทะเลไม่ได้นั้น เท่าที่สังเกตุต้นมะพร้าวดังกล่าว เริ่มแตกใบและดอกแล้ว รวมทั้งได้มีการทำไม้ค้ำยันไว้ค่อนข้างที่จะแข็งแรง และสวนสาธารณะ ได้มีการปรับปรุงแล้วเสร็จ มีเพียงประติมากรรมของกระทรวงวัฒนธรรมที่จะนำมาวางเท่านั้น

ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์

Valid XHTML 1.0 Transitional Valid CSS!
ทะเบียนพาณิชย์อีเลคทรอนิคส์ เลขที่ 8373549000215