ภูเก็ต, สหรัฐฯหนุนไทยติดตั้งทุ่นเตือนสึนามิในทะเล 2 ทุ่น ทุ่นแรกผุดได้ ธ.ค. ( ข่าวภูเก็ต )
ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เตรียมเซ็น MOU ติดตั้งทุ่นเตือนภัยลอยน้ำในมหาสมุทรอินเดีย กับสหรัฐอเมริกา คาดทุ่นแรกผุดได้ในเดือน ธ.ค.โดยสหรัฐฯออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทำไทยประหยัดค่าใช้จ่ายปีละ 180 ล้านบาท
นายสมิทธ ธรรมสโรช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการอำนวยการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตั้งระบบเตือนภัยในมหาสมุทรอินเดีย ภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุม โครงสร้างองค์ความรู้ด้านระบบการเตือนภัยของประเทศในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ซึ่งศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติจัดขึ้น เพื่อให้ความรู้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 6 จังหวัดอันดามัน ซึ่งเป็นการดำเนินการฝึกอบรมให้ความรู้ในพื้นที่นำร่อง ว่า
สำหรับการติดตั้งระบบเตือนภัยพิบัติล่วงหน้าในประเทศไทย ขณะนี้หอเตือนภัยล่วงหน้าในพื้นที่ 6 จังหวัดอันดามัน เป็นการดำเนินการเฟสแรกจำนวน 76 ต้น ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนเฟสที่ 2 ซึ่งดำเนินการติดตั้งในพื้นที่ 14 จังหวัดฝั่งอ่าวไทย กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการจำนวน 48 หอ
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินการติดตั้งหอเตือนภัยครอบคลุมทั้งประเทศ ทางศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้นั้นได้เสนอของบประมาณอีกจำนวน 288 ล้านบาท ก่อสร้างหอเตือนภัยในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ กลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 144 จุด
นอกจากนั้น ยังดำเนินการของบฯเพิ่ม เพื่อดำเนินการติดตั้งระบบเชื่อมโยงไปยังพื้นที่เสี่ยงภัยในพื้นที่ 20 จังหวัดจำนวน 2,000 จุด ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการอีกจำนวน 100 ล้านบาท
นายสมิทธ ยังได้กล่าวต่อไปถึงความคืบหน้าการติดทุ่นเตือนภัยสึนามิในทะเล ว่า ขณะนี้ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้รับการประสานจากทางการของสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับความร่วมมือในการติดตั้งทุนเตือนภัยสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกที่จะดำเนินการติดตั้งทุ่นเตือนภัยในทะเล
สำหรับการดำเนินการ สหรัฐฯจะเป็นผู้ออกงบประมาณ ในการดำเนินการทั้งวางทุ่น และตัวทุ่น ส่วนไทยจะเป็นผู้ดูแลและบำรุงรักษา สำหรับเรื่องของอุปกรณ์ที่จะต้องเปลี่ยนนั้นทางสหรัฐฯจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด สำหรับการดูแลบำรุงรักษา ได้ของบประมาณในการดำเนินการไว้แล้ว จำนวน 70 ล้านบาท ทุก 2 ปี
นายสมิทธ กล่าวต่อไปว่า สำหรับความร่วมมือที่สหรัฐฯให้การสนับสนุนในเรื่องของการติดตั้งทุ่นเตือนภัยในทะเลนั้นทำให้ประเทศไทย สามารถประหยัดงบประมาณในการดำเนินการติดตั้งทุ่นเตือนภัยจำนวน 180 ล้านต่อปี ซึ่งการติดตั้งทุ่นแรกนั้นจะติดตั้งได้ประมาณเดือนธันวาคมนี้ ที่ละติจูด 9 องศาเหนือ ลองจิจูด 80 องศาตะวันออก
จุดที่ 2 คาดว่า จะติดตั้งได้ในปี 2550 โดยติดตั้งที่ ละติจูด 4 องศาเหนือ ลองจิจูด 90 องศาเหนือ สำหรับการติดตั้งทุ่นในทะเล ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกที่มีการดำเนินการ เพราะขณะนี้ประเทศอื่นๆ ยังไม่มีความพร้อมในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม คิดว่า เร็วๆ นี้ ไทยและสหรัฐอเมริกา จะลงนามความร่วมมือในเรื่องของการติดตั้งทุ่นเตือนภัยสึนามิร่วมกันได้ ซึ่งขณะนี้จะต้องให้กระทรวงการต่างประเทศ ร่างข้อตกลงมาก่อน
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์