ภูเก็ต, ?สุวัจน์?ไม่ปิ๊งรูปแบบลงทุนอ่าวภูเก็ต มอบ สศช.ทำโรดแมปใน 3 สัปดาห์ ( ข่าวภูเก็ต )
รูปแบบโครงการ อ่าวภูเก็ต ที่มีการศึกษาไว้แล้ว
คณะกรรมการโครงการอ่าวภูเก็ตยังไม่ปิ๊งรูปแบบการลงทุนในโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ตที่นำเสนอ มอบหมายให้สภาพัฒน์ฯสรุปข้อมูลจัดทำโรดแมปการลงทุนใหม่อีกครั้งให้อยู่บนพื้นฐานหนุนท่องเที่ยว 3 จังหวัดอันดามัน มีความเป็นไปได้ด้านกฎหมายและได้รับการยอมรับจากเอกชนและประชาชน ขีดเส้นต้องเสร็จภายใน 3 สัปดาห์เสนอเข้าที่ประชุมอีกรอบก่อนสรุปเสนอขอความเห็น ครม.เดินหน้าต่อไปหรือไม่ ด้านเอกชนในพื้นที่หวั่นโครงการเกิดยากทำภูเก็ตเสียโอกาสลงทุนศูนย์ประชุม
วันนี้ (24 มิ.ย.) นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ต เป็นประธานการประชุม ?คณะกรรมการโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ต? ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากส่วนกลางและท้องถิ่นร่วมเป็นกรรมการประมาณ 30 คน ที่โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าประเด็นที่ได้สั่งการในการประชุมเมื่อครั้งวันที่ 26 ก.พ. 2549 นี้ผ่านมา ประกอบด้วยข้อสรปเรื่องที่ดินในโครงการ รูปแบบการบริหารจัดการและการลงทุนในโครงการ รวมทั้งกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นภายในโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ต
สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ซึ่งทำหน้าที่เลขานุการของคณะกรรมการโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ต ได้นำเสนอที่ดินในโครงการพัฒนาอ่าวว่า สามารถที่จะดำเนินการได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน คือเมื่อมีการถมทะเลแล้วที่ดินดังกล่าวจะเป็นที่ดินสาธารณะ ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถที่จะทำเรื่องขอใช้ประโยชน์ที่ดินไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
ส่วนกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในโครงการนั้น จะเน้นกิจกรรม 2 เรื่องหลัก คือ กิจกรรมที่เกี่ยวกับตลาดประชุมสัมมนาและแสดงสินค้า (MICE) และตลาดกลุ่มเรือยอชต์(MARINA) ซึ่งเป็นไปตามที่ที่บริษัทที่ปรึกษาเคยทำการศึกษาไว้เมื่อหลายปีที่ผ่านมา
สำหรับรูปแบบการลงทุนในโครงการนั้น ทางสภาพัฒน์ฯได้เสนอ 2 รูปแบบ คือ ให้ท้องถิ่นเป็นเจ้าของโครงการและให้เอกชนเข้ามาลงทุน 100% หรือรูปแบบที่จะให้ท้องถิ่นกับหน่วยงานจากส่วนกลาง ชึ่งประกอบด้วย บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ และเอกชนลงทุนร่วมกัน
ยังไม่ปิ๊งรูปแบบลงทุนให้สศช.ทำโรดแมปใหม่
ที่ประชุมยังไม่สรุปว่าจะเลือกรูปแบบการลงทุนใด แต่ได้มอบหมายให้สภาพัฒน์ฯไปสรุปรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมอีกครั้งโดยในอยู่บนพื้นฐานของการสนับสนุนการท่องเที่ยว 3 จังหวัดอันดามัน ภูเก็ต กระบี่ และพังงา กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนและประชาชน ซึ่งสภาพัฒน์ฯจะต้องจัดทำโรดแมปสรุปรูปแบบการลงทุนให้เสร็จภายใน 3 สัปดาห์ เพื่อเสนอที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งก่อนเสนอขอความเห็นชอบจากครม.ต่อไป
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ กล่าวภายหลังการประชุมว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวมากและรัฐบาลให้ความสำคัญในการรักษาระดับการท่องเที่ยวและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่เกิดขึ้น ดังนั้นโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ตถือว่ามีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตและอันดามัน ซึ่งโครงการดังกล่าวครม.ได้เห็นชอบในหลักการในการประชุมครม.สัญจรที่จังหวัดพังงา และได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุดเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในเบื้องต้น โดยมีตนเป็นประธาน และมีสภาพัฒน์ฯเป็นเลขานุการ ซึ่งจากประชุมในครั้งนี้ทางคณะกรรมการฯมีความเห็นร่วมกันว่าเป็นโครงการที่ดีและมีผลในการขยายฐานด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของภูเก็ตและอันดามัน รวมทั้งภาคเอกชน ประชาชนให้การสนับสนุน และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในเบื้องต้นมีน้อยมาก
โดยกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในโครงการนั้นจะมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับการส่งเสริมในตลาด MICE และตลาดเรือยอชต์ ที่จะประกอบด้วย ศูนย์ประชุมแสดงสินค้า โรงแรมที่พัก หรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับมารีน่า เพราะขณะนี้เรือยอชต์ที่เข้ามาภูเก็ตมีจำนวนมากจากการที่ทางรัฐบาลได้มีการลดภาษีเรือยอชต์ทำให้นักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงเดินทางเข้ามาภูเก็ตเพิ่มมากขึ้น
นายสุวัจน์ กล่าวอีกว่า เพื่อให้การผลักดันโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ตมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ที่ประชุมได้มอบหมายให้สภาพัฒน์ฯ ไปทำจัดโรดแมปสรุปรูปแบบการดำเนินการโครงการว่าโครงการลงทุนจะรูปแบบใดที่มีความเหมาะสม เช่น ให้เอกชนหรือเอกชนลงทุน หากให้เอกชนเข้ามาจะให้เวลาลงทุนกี่ปี หน่วยงานของรัฐจะเข้าไปสนับสนุนอะไรบ้าง ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับท้องถิ่น มีกฎหมายอะไรบ้างที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายเกี่ยวกับการร่วมทุนของเอกชนในกิจการของรัฐ และหน่วยงานใดที่ควรเป็นเจ้าภาพเข้ามารับผิดชอบโครงการ ซึ่งที่ประชุมให้เวลาสภาพัฒน์ฯไปดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 สัปดาห์ เพื่อที่ประชุมคณะกรรมการโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ตจะได้สรุปเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในเบื้องต้นว่าโครงการนี้สมควรที่จะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปหรือไม่
นายสุวัจน์ กล่าวอีกว่า การประชุมในครั้งนี้ถึงแม้ว่าสภาพัฒน์ฯจะนำเสนอรูปแบบการลงทุน แต่ที่ประชุมยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกรูปแบบใดมาพัฒนาอ่าวภูเก็ต เพราะยังมีข้อคิดเห็นจากหลายฝ่ายว่า กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง เช่น ทางจังหวัดภูเก็ตต้องการให้มีศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า และกิจกรรมเรือยอชต์ รวมทั้งท้องถิ่นมีความเห็นว่าขณะนี้พื้นที่ชายฝั่งอ่าวภูเก็ตไม่สวยงามเมื่อมีการพัฒนาโครงการนี้ก็น่าที่จะพัฒนาพื้นที่รอบๆ ควบคู่กันไปด้วย พร้อมทั้งเป็นหากโครงการเกิดขึ้นจะมีปัญหาเรื่องน้ำและขยะมูลฝอยกับจังหวัดภูเก็ตหรือไม่ ดังนั้นสภาพัฒน์ฯจะดูภาพรวมอีกครั้งหนึ่ง เมื่อที่ประชุมเห็นตรงกันก็จะเสนอ ครม.อีกครั้งหนึ่ง
เอกชนหวั่นโครงการไม่เกิด
ด้านร้อยโทภูมิศักดิ์ หงษ์หยก กรรมการโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ตและประธานชมรมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ที่ผ่านมามีเอกชนสนใจที่จะเข้ามาลงทุนเรื่องศูนย์ประชุมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต แต่เมื่อหน่วยงานของรัฐมีโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ต ที่มีศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าด้วย ทำให้เอกชนไม่มั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนทำให้ภูเก็ตเสียโอกาสมาก ซึ่งโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ตที่จะเกิดขึ้นได้เน้นกิจกรรมประชุมสัมมนาและแสดงสินค้า ถือเป็นโครงการที่ดี แต่ชั่วชีวิตของตนไม่รู้เหมือนกันว่าจะได้เห็นโครงการนี้หรือไม่ ซึ่งอยากจะให้ภาครัฐมีความชัดเจนในโครงการ
อีกประการหนึ่งที่ตนเป็นห่วงคือ ในเรื่องปัญหาน้ำและขยะที่จะตามมาจากโครงการ ซึ่งขณะนี้เทศบาลนครภูเก็ตมีเตาเผาขยะที่รองรับได้วันละ 250 ตัน ตอนนี้เกินความสามารถที่จะรองรับได้ มีการของบประมาณ 1,000 ล้านบาทมาดำเนินการเพิ่มก็ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งโครงการที่วางไว้สวยหรูแต่โครงสร้างพื้นฐานไม่พร้อมจะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ในอนาคต รวมทั้งเมื่อมีการพัฒนาโครงการอ่าวภูเก็ตแล้วก็น่าที่จะพัฒนาพื้นที่รอบอ่าวภูเก็ตให้มีความสวยงามด้วย ซึ่งทางเทศบาลนครภูเก็ตได้มีการศึกษาและวางแผนการพัฒนาไว้รองรับแล้ว
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์