ภูเก็ต, ภูเก็ตคุมเข้มธุรกิจด้ำน้ำชาวต่างชาติขึ้นทะเบียนสอบประวัติก่อนบริการ ( ข่าวภูเก็ต )
ภูเก็ตคุมเข้มธุรกิจดำน้ำที่ 90% เป็นของคนต่างชาติ ออกมาตรการให้ผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนกับทางจังหวัดก่อนเปิดให้บริการ หวังควบคุมการนำนักท่องเที่ยไปดำน้ำและหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี ด้าน ททท.หวั่นหากกฎระเบียบหยุมหยิมเกินทำเสียบรรกาศการท่องเที่ยวด้านดำน้ำได้
นายนิวิทย์ อรุณรัตน ปลัดจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงมาตรการควบคุมบริษัทดำน้ำในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ในการประชุมคณะกรรมการบริหารจังหวัดแบบบูรณาการจังหวัดภูเก็ต (ซีอีโอ.) ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต วันนี้ (21 มิ.ย.) ว่า ตามที่จังหวัดภูเก็ตได้มอบหมายให้ตนเป็นประธานคณะทำงานพิจารณาหามาตรการมาควบคุมธุรกิจดำน้ำในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมประชุมเพื่อหามาตรการควบคุม
ปรากฎว่าได้ผลสรุปดังนี้คือ การประกอบการธุรกิจดำน้ำในพื้นที่ภูเก็ตจะต้องมาขึ้นทะเบียนกับทางจังหวัดภูเก็ต โดยมีคณะทำงานพิจารณา 3 ชุด คือ คณะทำงานด้านการรับข้อมูลการขึ้นทะเบียนของบริษัทดำน้ำ เพื่อให้ทราบว่าบริษัทดังกล่าวเป็นใครมาจากไหน ประกอบธุรกิจดำน้ำที่ไหนบ้าง ขายทัวร์ในลักษณะอย่างไร จะนำนักท่องเที่ยวไปดำน้ำที่ไหนบ้าง หลังจากที่รับเรื่องแล้วเสร็จจะมีคณะทำงานพิจารณาคุณสมบัติของบริษัทดำน้ำนั้นว่าเหมาะสมที่จะประกอบการในภูเก็ตหรือไม่ หลังจากประกอบการแล้วจะมีคณะทำงานไปติดตามตรวจสอบการประกอบการ
ทั้งนี้ เพื่อให้ธุรกิจดำน้ำมาอยู่ในกรอบที่ทางจังหวัดกำหนด เพราะที่ผ่านมาการประกอบการของธุรกิจดำน้ำนั้น ดำเนินการโดยทางที่ทางจังหวัดไม่ได้รับทราบข้อมูลอะไรเลย เพียงจดทะเบียนเป็นบริษัทนำเที่ยวกับทางสำนักงานทะเบียนท่องเที่ยวก็สามารถที่จะประกอบการได้แล้ว
นายนิวิทย์ กล่าวอีกว่า การให้บริษัทดำน้ำมาขึ้นทะเบียนนั้น ทางจังหวัดไม่ต้องการที่จะทำให้การเข้ามาให้บริการของบริษัทดำน้ำของคนต่างชาติมีความยุ่งยากแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการที่จะเข้าไปควบคุมให้ดำเนินการอยู่ในกรอบเท่านั้นและให้บริษัทดำน้ำปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าประมาณเดือนมิ.ย.นี้จะสามารถดำเนินการได้
ด้านนายอุดมศักดิ์ อัศวรางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การให้บริษัทดำน้ำมาขึ้นทะเบียนนั้นให้ดำเนินการในลักษณะที่ไม่ให้ผู้ที่เข้ามาเปิดให้บริการรู้สึกว่าการทำงานของหน่วยงานราชการซ้ำซ้อนกฏระเบียบที่ออกมาใหม่จะต้องไม่ไปซ้ำซ้อนกับกฎหมายเดิม เพราะหากมีการทำงานที่ซ้ำซ้อนจะทำให้เสียบรรยากาศการท่องเที่ยวได้ และการที่จะออกเป็นประกาศของจังหวัดให้เชิญผู้ประกอบการมาหารือก่อน
ขณะที่นางสุวลัย ปิ่นประดับ ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยภาคใต้เขต 4 กล่าวว่า บริษัทดำน้ำที่มาประกอบการในภูเก็ตจะมาจดทะเบียนประกอบธุรกิจนำเที่ยวแบบดำน้ำกับทางสำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวกับททท.อยู่แล้ว ซึ่งหากกฎระเบีบที่จังหวัดออกมาหยุมหยิมเกินไปอาจจะกระทบกับการท่องเที่ยวในเรื่องของดำน้ำได้ แต่ต้องยอมรับว่าการขายทัวร์ดำน้ำในปัจจุบัน บริษัทดำน้ำจะขายโดยให้นักท่องเที่ยวนอนค้างในเรือและขายกันทางอินเตอร์เนต ซึ่งจุดนี้จะมีปัญหาในเรื่องของการเก็บภาษีได้ ซึ่งทางสรรพากรจะต้องเข้มงวดในเรื่องนี้
ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธุรกิจดำน้ำในภูเก็ตมีกว่า 100 บริษัท ซึ่งกว่า 90% เป็นการประกอบการของชาวต่างชาติ เพราะนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการเป็นคนต่างชาติจะเชื่อมั่นในการให้บริการของคนต่างชาติมากกว่าบริษัทดำน้ำของคนไทย และที่ผ่านมา การประกบอการดำน้ำจะประกอบการในช่วงไฮซีชั่นเท่านั้น ราคาให้บริการค่อนข้างสูง มีให้นักท่องเที่ยวเลือกแบบดำวันเดียว หรือค้างคืนบนเรือ ซึ่งราคาจะสูงมากตั้งแต่ 20,000-50,000 บาท ขึ้นอยู่กับสถานที่ดำน้ำและเวลาที่ไปดำน้ำกว่ากี่วัน
โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวที่สนใจดำน้ำเป็นกลุ่มจากยุโรปและเอเชียบ้างเล็กน้อย ที่ผ่านมาการประกอบการดำน้ำของคนต่างชาติ ทางจังหวัดภูเก็ตไม่ได้รับทราบว่ามีกี่รายและประกอบการที่ไหนบ้าง รายได้เป็นอย่างไร เพราะแค่จดทะเบียนบริษัทนำเที่ยวกับ ททท.ก็สามารถดำเนินการได้แล้ว
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์