ศูนย์ข่าวภูเก็ต - รอง ผบ.ตร.มอบนโยบายปราบยาเสพติดตำรวจภาค8 เน้นทำงานตั้งใจไม่ให้พื้นที่เป็นแหล่งพร่ระบาด - ที่พักยาเสพติด ขณะที่ปปส.ภ.8 ระบุสถิติการจับกุมเพิ่มขึ้นทุกปี
วันที่ 7 พ.ค.52 ที่ห้องประชุมชั้น 4 สภ.เมืองภูเก็ต พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย รองผบ.ตร.พร้อมคณะได้ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 8 โดยมีนายสมิทธิ์ ปาลวัฒน์วิไชย รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายสุรศักดิ์ กล่ำอินทร์ ผู้อำนวยการ ปปส. ภ.8 ตลอดจนผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด รองผู้บังคับการฯ ผู้กำกับการสถานีตำรวจ รองผู้กำกับฯ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ทั้งนี้ก่อนการประชุมได้มีการตรวจแถวตำรวจด้วย
ทั้งนี้ พล.ต.อ.จุมพล ได้กล่าวกับผู้เข้าร่วมประชุมว่า จากนโยบายรัฐบาลซึ่งได้ประกาศให้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์เพื่อนำไปใช้ปฎิบัติโดยนำข้อมูลจากศูนย์ปฎิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดมาใช้ในการวางแผน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำหนด 5 รั้วป้องกัน ได้แก่รั้วชายแดน เพื่อสกัดกั้นเส้นทางการแพร่ระบาดและการลำเลียง รั้วชุมชน มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพหลัก รั้วการจัดระเบียบสังคม มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รั้วโรงเรียน มอบกระทรวงศึกษาธิการ และรั้วครอบครัวมอบกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วย 2 มาตรการ คือ การปราบปรามและการบำบัดรักษา
พล.ต.อ.จุมพล ยังกล่าวชื่นชมการทำงานของทางเจ้าหน้าที่ในช่วงที่ผ่านมา ว่า แม้จะต้องไปดูแลปัญหาอันเกิดจากความไม่สงบทางการเมืองก็ตาม แต่การดำเนินงานด้านการปราบปรามยาเสพติดและอาชญากรรมก็ยังมีสถิติการจับกุมได้ไม่น้อยกว่าในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ดังนั้นจึงขอให้ทุกคนได้ตั้งใจในการปฎิบัติหน้าที่ด้วยความเชื่อมั่นและตั้งใจจริง เพราะการทำงานด้านยาเสพติดจะต้องเจอกับสิ่งแวดล้อมที่ยั่วยุและเป็นปัจจัยแทรกซ้อนที่อาจจะก่อให้เกิดความไม่ถูกต้องได้ เพราะฉะนั้นต้องตั้งใจจริงและมีความเสียสละ เพื่อไม่ให้พื้นที่ของตัวเองมีการแพร่ระบาด เป็นเส้นทางลำเลียง หรือแหล่งพักยา
ในขณะที่นายสุรศักดิ์ กล่ำอินทร์ ผู้อำนวยการ ปปส.ภ.8 กล่าวถึงสถิติการจับกุมในคดียาเสพติดในพื้นที่ภาค 8 รับผิดชอบ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2549 จนปัจจุบันพบว่ามีสถิติการจับกุมเพิ่มขึ้นทุกปี โดยแหล่งที่มีการแพร่ระบาดจะอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองและอำเภอหลักสำคัญๆ ส่วนของเส้นทางการลำเลียงส่วนใหญ่จะมาจากภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือลงมาภาคใต้ ส่วนที่เป็นการลำเลียงจากภาคใต้ขึ้นไปทางภาคเหนือนั้นก็มีบ้างแต่ไม่มากนัก
ในขณะเดียวกันพื้นที่ภาคใต้เป็นแหล่งท่องเที่ยวจึงทำให้ผู้ต้องหาชาวต่างชาติเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดด้วย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น พม่า อังกฤษ เยอรมัน เป็นต้น ส่วนของการเข้ารับการบำบัดรักษาก็มีเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งมีทั้งรายเก่าและรายใหม่ ในเกือบทุกกลุ่มสาขาอาชีพ เช่น เกษตรกร รับจ้าง นักเรียนนักศึกษา ข้าราชการ เป็นต้น อายุระหว่าง 15-19 ปี และเริ่มลดน้อยลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ในความรับผิดชอบของภาค 8 ซึ่งมี 7 จังหวัด ปรากฎว่า 3 จังหวัดที่มีสถิติการจับกุมสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และภูเก็ต ซึ่งจังหวัดที่เป็นเป้าหมายที่จะต้องมีการดูแลพิเศษมี 2 จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานีกับนครศรีธรรมราช
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์