แหล่งรวม ธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน และ ข้อมูล การท่องเที่ยว ในแถบ อันดามัน
 
เข้าสู่ระบบ G! Builder
เลือกจังหวัด
ข่าวสาร ข่าวทั่วไป ในแถบ อันดามัน ( ภูเก็ต, กระบี่, ระนอง, ตรัง, พังงา, สตูล )

ภูเก็ต, เต่าตะนุที่ภูเก็ตยังไม่ปลอดภัย จนท.ดูแลตลอดห่วงติดเชื้อ ( ข่าวภูเก็ต )

ข่าวภูเก็ต : เต่าตะนุที่ภูเก็ตยังไม่ปลอดภัย จนท.ดูแลตลอดห่วงติดเชื้อ

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เผยเต่าตะนุยักษ์ยังไม่ปลอดภัยจัดเจ้าหน้าที่ดูแลตลาดเวลา ห่วงติดเชื้อในกระแสเลือดเหตุบาดแผลใหญ่และลึก ขณะที่สถานการณ์เต่าทะเลน่าเป็นห่วงพบขึ้นวางไข่น้อย

น.ส.กาญจนา อดุลยานุโกศล หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน จ.ภูเก็ต กล่าวถึงการช่วยชีวิตเต่าตะนุขนาดใหญ่อายุกว่า 50 ปี ที่ได้รับการช่วยเหลือมาว่า อาการเต่าตะนุดังกล่าวยังน่าเป็นห่วงเนื่องจากบาดแผลที่ถูกใบพัดเรือหางยาวฟันมีขนาดใหญ่และลึก โดยบาดแผลที่กระดองค่อนไปทางหัวยาวประมาณ 11 ซม กว้างประมาณ 6 ซม ลึก 1.5 ซม. ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำความสะอาดบาดแผล ฉีดยาปฏิชีวนะ และใช้อุปกรณ์ปิดแผลเพื่อป้องกันแมลงวันวางไข่

รวมทั้งนำตัวอย่างเลือดไปตรวจหาเชื้อ เนื่องจากไม่แน่ใจว่าจะมีเชื้อโรคในกระแสเลือดที่มาจากบาดแผลหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การดูแลเต่าตัวดังกล่าวเจ้าหน้าที่จะต้องเฝ้าดูแลตลอดเวลาเพราะยังไม่แน่ใจว่าจะปลอดภัยหรือไม่ และจะต้องทำแผลให้ทุกวัน จนกว่าอาการจะดีขึ้น

ขณะที่ นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ นักวิชาการประมงประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กล่าวถึงสถานการณ์เต่าทะเลในฝั่งทะเลอันดามัน ว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา สถิติการวางไข่ของเต่าทะเลคงที่ อยู่ที่ประมาณ 150 รังต่อปี

และพบว่าในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มของแม่เต่าใหม่ที่เข้ามาวางไข่มีจำนวนลดน้อยลง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอนาคตของเต่าทะเลค่อนข้างน่าเป็นห่วง โดยชนิดของเต่าทะเลที่เหลืออยู่ขณะนี้ พบเต่าตะนุขึ้นมาวางไข่มากที่สุด รองลงมาเป็นเต่ากระ

ส่วนเต่ามะเฟืองกับเต่าหญ้าไม่ค่อยพบเห็นและพบว่ามีการขึ้นมาวางไข่เพียง 5 รังต่อปี ทั้งนี้จากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น จึงได้มีการจัดทำโครงการติดไมโครชิฟให้กับเต่าทะเล เพื่อติดตามการเคลื่อนไหว รวมถึงการรณรงค์ให้มีการปล่อยลูกเต่าที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพราะจะทำให้อัตรารอดมีสูงกว่าการปล่อยลูกเต่าขนาดเล็ก

ส่วนการขึ้นมาวางไขของเต่าทะเลในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ส่วนใหญ่พบว่าปัจจุบันมีเต่าขึ้นมาวางไข่น้อยมาก เนื่องจากพื้นที่ชายหาดซึ่งเคยใช้เป็นที่วางไข่ ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการวางไข่บริเวณชายหาด เนื่องจากสันทรายมีความกว้างค่อนข้างมากแคบลง ทำให้ไข่บางส่วนถูกคลื่นซัดลงทะเลไป โดยในเรื่องนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลรายละเอียด รวมถึงปัญหาการก่อสร้างที่ใกล้กับชายหาดที่เคยเป็นแหล่งวางไข่ ซึ่งควรจะต้องมีความเข้มงวดในการอนุญาตและการเว้นระยะห่างจากชายหาดตามที่กฎหมายกำหนด

สำหรับสาเหตุที่เต่าทะเลวางไข่ลดน้อยลงนั้น นายก้องเกียรติ กล่าวว่า เนื่องจากแม่พันธุ์เต่าถูกคุกคามเป็นอย่างมากในต่างประเทศโดยมีการลักลอบจับอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม่เต่าที่ขึ้นมาวางไข่บริเวณชายหาดบ้านเราจะมีแหล่งหากินในต่างประเทศ

เช่น ฝั่งอันดามัน จะอยู่ในแถบหมู่เกาะประเทศอินเดีย ฝั่งอ่าวไทยจะอยู่ในแถบประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย หรือมาเลเซีย และโทรทอลไอส์แลนด์ ซึ่งเป็นอาณาเขตของประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทางการของประเทศอินโดนีเซียสามารถจับกุมเรือประมงที่ลักลอบจับเต่าได้ และมีเต่าอยู่ในเรือจำนวน 400-500 ตัว มีการสต๊าฟพร้อมที่จะขายได้ทันที โดยส่วนใหญ่จะนำไปส่งขายต่อประเทศที่เป็นผู้ซื้อ เพื่อนำไปทำเครื่องประดับตกแต่งบ้าน ส่วนความเชื่อเกี่ยวกับการบริโภคเนื้อเต่านั้นก็ยังคงมีอยู่เช่นกัน

ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์

Valid XHTML 1.0 Transitional Valid CSS!
ทะเบียนพาณิชย์อีเลคทรอนิคส์ เลขที่ 8373549000215