ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เทศบาลตำบลกะรน ภูเก็ต ร่วมคนในพื้นที่อนุรักษ์ “ผักบุ้งทะเล” “เตยลำเจียก” ให้อยู่คู่ชายหาดเพิ่มความสวยงามหลังพบมีจำนวนน้อยลง พร้อมทุ่มงบ 3แสนบาทเพาะขยายพันธุ์
นายทวี ทองแช่ม นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองกะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต กล่าวถึงการอนุรักษ์และปรับปรุงภูมิทัศน์ชายหาดกะรน เพื่อให้คงความสวยงามของชายหาดกะรน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียของจังหวัดภูเก็ตอีกแห่งหนึ่ง ว่า ขณะนี้ทางเทศบาลเมืองกะรนได้รับมอบร่ม และเต็นท์ชายหาด เพื่อให้ผู้ประกอบการรมชายหาด หมอนวดในพื้นที่บริเวณชายหาดกะรนได้ใช้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย จากธนาคารกสิกรไทย โดยเต็นท์และร่มดังกล่าวจะนำมาเปลี่ยนกับร่มและเต็นท์ที่ชำรุดเสียหาย สำหรับการตั้งร่มผ้าใบบริเวณชายหาดกะตะ-กะรน นั้นได้กำหนดให้ตั้งเพียงหาดละ 2 แถวเท่านั้นเพื่อความเป็นระเบียบของชายหาดและเหลือพื้นที่ไว้สำหรับให้นักท่องเที่ยวได้ใช้ประโยชน์โดยไม่มีการรบกวน
ส่วนเรื่องของการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณชายหาดกะตะ-กะรน นั้น ทางเทศบาลเมืองกะรนได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการในพื้นที่จัดโครงการอนุรักษ์ผักบุ้งทะเล และเตยลำเจียก ซึ่งเป็นต้นไม้ชายหาดขึ้น เพื่อที่จะร่วมกันรักษาความสวยงามของบริเวณชายหาดกะรน ที่ปัจจุบันนี้ต้นไม้ประจำชายหาดโดยเฉพาะผักบุ้งทะเลเริ่มที่จะมีจำนวนน้อยลงเกือบทุกชายหาด ในส่วนของหาดกะรนต้องการที่จะอนุรักษ์ผักบุ้งทะเลไว้ เพื่อให้ช่วยปกคลุมชายหาด และสีเขียวของผักบุ้งทะเลจะตัดกับหาดทรายสีขาว ทำให้ชายหาดมีความสวยงามมากขึ้น และในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวหรือช่วงเดือนพฤศจิกายนซึ่งเป็นช่วงที่ผักบุ้งทะเลออกดอกเป็นสีม่วงทำให้ชายหาดมีความสวยงามขึ้นอีกมาก ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวที่บริเวณชายหาดเป็นอย่างมาก ส่วนต้นเตยลำเจียกก็เช่นกันนอกจากจะช่วยสร้างความสวยงามให้กับชายหาดแล้วยังช่วยกันลมและลดความแรงของคลื่นได้ด้วย
นายทวี ยังได้กล่าวต่อไปถึงการดำเนินโครงการอนุรักษ์ผักบุ้งทะเล และต้นเตยลำเจียก ว่า สำหรับการดำเนินโครงการดังกล่าวนั้นทางเทศบาลได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 300,000 บาท เพื่อทำการเพาะและขยายพันธ์ต้นผักบุ้งทะเล และเตยลำเจียก และเริ่มที่จะมีการปลูกไปบ้างแล้ว ซึ่งโครงการนี้ทางเทศบาลฯตั้งใจที่จะดำเนินการต่อเนื่องเพื่อฝื้นฟูผักบุ้งทะเลให้กลับมาอยู่คู่กับชายหาดกะรน-กะตะ ต่อไป
สำหรับผักบุ้งทะเลเป็นพืชที่มีเถาเลื้อย ลำต้นทอดไปตามยาวบนพื้นดิน ใบเป็นรูปหัวใจปลายเว้าเข้าหากัน ใบหนา หักง่ายดอกเหมือนดอกผักบุ้ง มีผลเล็กปลูกได้โดยใช้เมล็ดและปักชำ พบเห็นทั่วไปตามธรรมชาติบริเวณริมทะเลเป็นพืชที่ทนต่อความแห้งแล้ง ผักบุ้งทะเล มีสารที่มีฤทธิ์ต้านฮีสตามีน หรือ แอนตี้-ฮีสตามีน ยับยั้งพิษแมงกะพรุน และแมลงกัดต่อยได้ โดยใช้ใบและเถาล้างให้สะอาดแล้วเอาไปโขลกให้ละเอียด คั้นเอาน้ำทาในบริเวณที่เกิดอาการบวมแดง
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์