ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ภูเก็ตจัดตั้งกองทุนสร้างสุขภาพชุมชน แล้ว 14 พื้นที่มีงบดำเนินการกว่า 15 ล้านบาท ดำเนินกิจกรรม 4 ด้าน ได้แก่ การสนับสนุนงบประมาณให้กับสถานบริการในพื้นที่ การซื้อบริการสร้างสุขภาพตามชุดสิทธิประโยชน์ การสร้างสุขภาพของประชาชนโดยชุมชนท้องถิ่น และการบริหารจัดการกองทุนและพัฒนาระบบบริหารจัดการ
วันที่ 27 มี.ค. ที่ห้องยูงทอง โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน นายวรพจน์ รัฐสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการสัมมนากองทุนสร้างสุขภาพชุมชน 3 ปี 3 ประสาน กับทิศทางการสร้างสุขภาพชุมชน จังหวัดภูเก็ต ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดขึ้น โดยมีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารหน่วยงานสาธารณสุข ผู้นำชุมชม ประชาคมในจังหวัดภูเก็ต และผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขาเขตพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เข้าร่วม
นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้จัดสรรงบประมาณ หมวดส่งเสริมสุขภาพชุมชนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน 37.50 บาทต่อหัวประชากร
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสมทบตามสัดส่วน คือ อบต.ขนาดเล็ก สมทบไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 อบต.ขนาดกลาง สมทบไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 อบต.ขนาดใหญ่และเทศบาล สมทบไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในด้านการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันควบคุมโรค และการฟื้นฟูสภาพร่างกายของหน่วยบริการ ส่งเสริมให้กลุ่มประชากรเป้าหมายแม่และเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ประกอบอาชีพเสี่ยง และผู้ป่วยเรื้อรังสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ ตลอดจนให้เกิดการพัฒนาสุขภาพของคนในชุมชนท้องถิ่นหรือพื้นที่ โดยการบริหารจัดการของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา
ในส่วนของจังหวัดภูเก็ต ได้จัดตั้งระบบหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่/ท้องถิ่น หรือกองทุนสร้างสุขภาพชุมชน แล้ว 14 พื้นที่ คิดเป็นร้อยละ 78 ประกอบด้วย กองทุนของ อบต.8 กองทุน และเทศบาล 6 กองทุน มีงบประมาณดำเนินการกว่า 15 ล้านบาท ดำเนินกิจกรรม 4 ด้าน ได้แก่ การสนับสนุนงบประมาณให้กับสถานบริการในพื้นที่ การซื้อบริการสร้างสุขภาพตามชุดสิทธิประโยชน์ การสร้างสุขภาพของประชาชนโดยชุมชนท้องถิ่น และการบริหารจัดการกองทุนและพัฒนาระบบบริหารจัดการ
สำหรับการจัดเวทีสัมมนาดังกล่าว เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะ ประสบการณ์การดำเนินงานในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมาของ 3 ภาคส่วน ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานสาธารณสุข และภาคชุมชน เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดการดำเนินงานกองทุนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนค้นหาปัญหาอุปสรรคและแนวทางแก้ไขร่วมกัน
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์