ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กกต.มีมติเอกฉันท์สั่งให้มีการเลือกตั้งนายก อบจ.ภูเก็ต และ ส.อบจ.เขตเลือกตั้งที่ 3 อ.ถลางใหม่ พร้อมให้ สวค.จัดทำความเห็นยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์เพื่อนิจฉัยตามมาตรา 239 ต่อไป
จากกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งได้ประชุมเมื่อวันที่ 19 มีนาคม ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาเรื่องคัดค้านการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่น รวม 29 เรื่อง โดยในจำนวน 29 เรื่องมีเรื่องการยื่นคัดค้านในส่วนของจังหวัดภูเก็ต คือ การคัดค้านการเลือกตั้ง นายก อบจ.ภูเก็ตและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต อ.ถลาง เขต 3 เลขวาระ 828/52 สำนวนที่ 5 การเลือกตั้งวันที่ 20 เมษายน 2551 ประกาศผลวันที่ 7 พฤษภาคม 2551 โดยผู้คัดค้าน คือ นายอภินันท์ วงศ์นา (ผู้สมัคร ส.อบจ.อ.ถลาง หมายเลข 1 เขตเลือกตั้งที่ 3) ไม่ได้รับเลือกตั้ง ผู้ถูกคัดค้าน 1.นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ ผู้สมัครนายกฯ หมายเลข 2) ได้รับเลือกตั้ง 2.นายสวัสดิ์ มัจจาเวช (ผู้สมัคร ส.อบจ.อ.ถลาง หมายเลข 2 เขตเลือกตั้งที่ 3) ได้รับเลือกตั้ง ในข้อกล่าวหา ให้ทรัพย์สิน (เงิน ) แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจูงใจ
โดยที่ประชุมมีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์สั่งให้มีการเลือกตั้งนายก และ ส.อบจ.ภูเก็ต อ.ถลาง เขต 3 ใหม่ แทนผู้ถูกคัดค้านที่ 1 และ 2 และมีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากให้ดำเนินคดีอาญาแก่นายทวี พันธ์ทิพย์ นายสมศักดิ์ ท่อทิพย์ นางละมัย ไมโส้ และ น.ส.สิริวรรณ สันติสุขธีรกุล (ท่อทิพย์) ผู้ให้เงิน ทั้งนี้ให้ สำนักวินิจฉัยและคดี (สวค.) จัดทำความเห็นและยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์เพื่อวินิจฉัยตามมาตรา 239 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยให้ สำนักวินิจฉัยและคดี ด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย และสำนักกฎหมายและคดี (สกม.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นายสุภาพ อรรคคำ ผู้อำนวยการ สำนักงาน กกต.ภูเก็ต กล่าวว่า รอหนังสือสั่งการอย่างเป็นทางการจาก กกต.กลาง เพื่อแจ้งให้กับทางผู้คัดค้านและผู้ถูกคัดค้านรับทราบต่อไป และติดตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าจะออกมาเช่นไร เพราะตามรัฐธรรมนูฐฉบับปี 2550 กำหนดอำนาจของ กกต.เกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นซึ่งได้มีการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งไปแล้ว เมื่อมีการร้องคัดค้านภายหลัง มติของ กกต.ที่ออกมาภายหลังการเลือกตั้งนั้นยังไม่ถือว่าเด็ดขาด โดยจะต้องส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา
ขณะที่การปฏิบัติหน้าที่ของนายก อบจ.ภูเก็ต นั้น ขณะนี้ยังสามารถปฎิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ จนกว่าศาลอุทธรณ์จะพิจารณาประทับรับฟ้อง และหากศาลอุทธรณ์พิจารณารับฟ้องก็ต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์