ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ภูเก็ตเสี่ยงพบอัตราการบาดเจ็บ-เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรทางถนนสูงในอันดับ1-5 ของประเทศมาโดยตลอด ตำรวจภูเก็ตตั้งศูนย์จราจรวิเคราะห์ปัญหา เน้นแก้ไขให้ตรงจุด
พ.ต.อ.ชลิต ถิ่นธานี รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุของจังหวัดภูเก็ตที่มีอัตราการบาดเจ็บและการตายสูงอยู่ในอันดับ 1-5 ของไทยมาโดยตลอดเป็นเวลาหลายปี ทำให้คณะทำงานสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจรทางถนน หรือ สอจร. ต้องนำกลยุทธ์หลายๆ ด้านขึ้นมาใช้เพื่อลดภาวะความเสี่ยง รวมถึงการสูญเสียทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม สถิติของการเกิดอุบัติเหตุล่าสุดปี พ.ศ.2551 จากโรงพยาบาลของรัฐ พบว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุการจราจรทางถนนสูงถึง 13,840 คน ยอดผู้เสียชีวิตจำนวน 136 คน
ทั้งนี้ ต้นเหตุสำคัญๆของอุบัติเหตุเกิดจากสภาพถนนสภาพรถ และพฤติกรรมคนขับขี่ประกอบกับเพราะภูเก็ตมีรถรวมทุกประเภทในจังหวัดถึง 297,645 คัน เป็นรถมอเตอร์ไซค์ 208,183 คัน ประชากร 1 คนต่อรถ 1 คน เป็นอัตราการครอบครองรถที่สูงที่สุดในประเทศ จึงเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และมีการบาดเจ็บถึง 33-35 คนต่อวัน เสียชีวิต 15-16 คนต่อเดือน
ทั้งนี้ เห็นได้ชัดจากคดีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยที่สถานีตำรวจภูธรเมืองภูเก็ต เก็บบันทึกเป็นข้อมูลเพื่อใช้วิเคราะห์สาเหตุและหาทางแก้ปัญหา เป็นคดีที่เรียกกันในหมู่ตำรวจว่า “คดีชิงเหลือง ชิงแดง” เป็นคดีที่เกิดจากการไร้น้ำใจ ในจังหวะการเปลี่ยนสัญญาณไฟจากที่แต่ละฝ่ายติดคันเร่งกันเต็มที่เพื่อให้พาหนะที่ใช้ขับผ่านสัญญาณไฟก่อนไฟเหลืองหมดและทันทีที่สิ้นสุดสัญญาณไฟแดง โดยไม่ได้ชะลอดูรถทิ้งท้ายที่กำลังแล่นผ่านแยกอื่น ผลคือการประสานงากันตรงจุดกลางของสี่แยก
คดีอุบัติเหตุจราจรในลักษณะใกล้เคียงกันที่เป็นสาเหตุของความสูญเสียตามมา ยังรวมถึงบริเวณสี่แยกหรือแยกต่างๆ ที่ไม่มีการติดไฟสัญญาณจราจร เรียกกันว่า “คดีวัดใจ-ชิงไหวชิงพริบ” ผู้ขับขี่ใช้สัญชาตญาณการเดาใจคนขับในช่องทางตรงข้าม หรือ ช่วงชิงจังหวะการขับรถ บริเวณที่เกิดเหตุบ่อยครั้งในอำเภอเมือง อยู่ที่แยกซอยบางใหญ่
พ.ต.อ.ชลิต กล่าวถึงวิธีการแก้ไขที่ตำรวจดำเนินการไปแล้วเห็นผลและทำให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุของจังหวัดลดลงได้วันละ 1 คนว่า มาตรการในการแก้ไขปัญหาและลดอุบัติเหตุจราจรในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตนั้นทางตำรวจได้ตั้งศูนย์จราจรตำรวจภูธรจังหวัด ภูเก็ต เป็นห้องบัญชาการตรวจวิเคราะห์ตั้งแต่ช่วงเวลาการเกิดเหตุด้วยนาฬิกาอุบัติเหตุ ดัดแปลงจากนาฬิกาอาชญากรรม ติดตั้งภาพพื้นที่เกิดเหตุบ่อยครั้ง เพิ่มจำนวนกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ติดตั้งสัญญาณเวลานับถอยหลังคู่กับไฟจราจรเพิ่มเติม 7 จุด ประสานองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ทำแถบสะท้อนแสงบนถนน ติดตั้งไฟกระพริบเตือน บริเวณจุดกลับรถและทางเข้าออกซอย
วิธีการแก้ปัญหาของตำรวจใช้วิธีการแก้ให้ตรงกับจุดเกิดเหตุ ไม่ใช้วิธีแก้แบบเหวี่ยงแห เพราะแต่ละพื้นที่มีปัญหาต่างกัน และเมื่อจังหวัดภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก ตำรวจภูเก็ตย่อมไม่ต้องการให้นักท่องเที่ยวที่มาจากทั่วสารทิศมาเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุในจังหวัด
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์