ศูนย์ข่าวภูเก็ต -วช.วิจัยและพัฒนาเพรียงทรายเข้าสู่การใช้ประโยชน์เชิงอุตสาหกรรม หลังแนวโน้มความต้องการเพิ่มสูงขึ้น
นางสุนันทา สมพงษ์ ผู้อำนวยการภารกิจโครงการและประสานงานวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวภายหลังเปิดสัมมนาเรื่อง “วช.กับการวิจัยและพัฒนาเพรียงทรายสู่การใช้ประโยชน์เชิงอุตสาหกรรม” ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมเมโทรโพล อ.เมือง จ.ภูเก็ต วันนี้ว่า เพรียงทรายเป็นสัตว์ทะเลชนิดหนึ่งในกลุ่มแอนเนลิก ที่อาศัยอยู่ตามหาดทรายบริเวณแนวน้ำขึ้นน้ำลง กินซากพืชและซากสัตว์เป็นอาหาร ทำหน้าที่เหมือนผู้กำจัดขยะตามชายหาด
นอกจากนี้ยังเป็นอาหารที่สำคัญของแม่พันธุ์กุ้งทะเล เนื่องจากเนื้อของเพรียงทรายมีโปรตีนสูงและไขมันที่จำเป็นต่อการพัฒนารังไข่ของกุ้งทะเล โดยปัจจุบันความต้องการเพรียงทรายมากขึ้น เนื่องจากความนิยมของเกษตรกรในการเลี้ยงกุ้งทะเล ทำให้การจับจากธรรมชาติมาป้อนโรงเพาะพันธุ์กุ้งทะเลมากขึ้น จนทำให้ประชากรเพรียงทรายในธรรมชาติลดลงอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ เพรียงทรายที่จับจากธรรมชาติมีข้อเสียในการนำมาใช้เป็นอาหารของแม่พันธุ์กุ้งทะเล เพราะอาจนำเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคระบาดในกุ้งทะเล หรือนำแบคทีเรียและพยาธิมาสู่แม่พันธุ์กุ้งทะเลได้
อย่างไรก็ตาม วช.ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญในเรื่องนี้จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยอย่างต่อเนื่องแก่สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ให้ดำเนินการวิจัยในการเพาะเลี้ยงและพัฒนาเพรียงทรายเพื่อใช้ประโยชน์ จนสามารถที่จะเผยแพร่สู่สาธารณชนได้ ทั้งในรูปแบบการฝึกอบรมความรู้ในการเพาะเลี้ยง และการจัดตั้งฟาร์มเพราะเลี้ยงปลอดเชื้อเชิงพาณิชย์ เพื่อให้สามารถใช้เป็นอาหารสำหรับพ่อแม่พันธุ์กุ้งทะเลทดแทนการจับจากธรรมชาติ รวมทั้งการศึกษาวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการจากเพรียงทราย
การจัดสัมมนาดังกล่าวเพื่อเป็นการเผยแพร่ผลงานการวิจัย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงเพรียงทราย การทำฟาร์มผลิตเพรียงทรายปลอดเชื้อคุณภาพสูง การแปรรูปเพรียงทราย การดำเนินการด้านการตลาด ทิศทางการวิจัยและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากเพรียงทราย และเป็นแนวทางการวิจัยและพัฒนาต่อไป
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์