ศูนย์ข่าว ภูเก็ต - จังหวัด ภูเก็ต เลือกพื้นที่ “เกาะราชา” นำร่องกำหนดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการท่องเที่ยวและชาวประมงพื้นบ้านหลังพบแนวปะการังมีสภาพสมบูรณ์ปานกลางจนถึงเสื่อมโทรมมาก รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
นายไพทูล แพนชัยภูมิ หัวหน้าศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 ( ภูเก็ต ) กล่าวถึงการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่เกาะราชา ต.ราไวย์ อ.เมือง จ. ภูเก็ต ร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการท่องเที่ยวและชาวประมงพื้นบ้าน หลังจากมีปัญหาความขัดแย้งเรื่องของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติระหว่างชาวประมงพื้นบ้านและผู้ประกอบการท่องเที่ยวว่า สำหรับจังหวัด ภูเก็ต เป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์และสวยงาม ทำให้มีการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทย การพัฒนาอย่างรวดเร็วดังกล่าวได้ส่งผลให้ทรัพยากรทางทะเลของจังหวัด ภูเก็ต เสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว
จากรายงานของสถาบันวิจัยทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่า แนวปะการังในบริเวณเกาะ ภูเก็ต มีสภาพสมบูรณ์ปานกลางถึงเสื่อมโทรมมาก สาเหตุสำคัญที่ทำให้แนวปะการังเสื่อมความสมบูรณ์ลงเนื่องจากหลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งจากปัจจัยธรรมชาติ
เช่น พายุ การระบาดของดาวหนาม ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว นอกจากนี้ยังมีสาเหตุที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การพัฒนาชายฝั่ง การท่องเที่ยวในแนวปะการัง การประมง การทำเหมืองแร่ในทะเล การสร้างท่าเทียบเรือ เป็นต้น ความเสื่อมโทรมของปะการังดังกล่าว ทำให้ศักยภาพของจังหวัด ภูเก็ต ในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญลดลง ข้อเท็จจริงนี้สวนทางกับวิสัยทัศน์ของจังหวัด ภูเก็ต ที่จะเป็น “ศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีเอกลักษณ์วัฒนธรรมและมีการพัฒนาที่ยั่งยืน”
นายไพทูล กล่าวต่อว่า นอกจากความเสื่อมโทรมของปะการังซึ่งเปรียบเสมือนบ้านและแหล่งที่อยู่อาศัยขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำ ยังมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลในการยังชีพด้วย ปัญหาที่สำคัญ คือ การเพิ่มโอกาสของความขัดแย้งระหว่างผู้ที่ใช้ประโยชน์เกี่ยวข้องกับแนวปะการัง ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม เช่น ปัญหาระหว่างชาวประมงกับนักดำน้ำ ปัญหาระหว่างผู้ประกอบการท่องเที่ยวกับชาวประมงหรือระหว่างผู้ประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวในทะเลด้วยกันเอง เป็นต้น
ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีแนวทางและมาตรการที่ชัดเจนในการอนุรักษ์และบริหารจัดการ แนวปะการังของจังหวัด ภูเก็ต โดยโครงการแบ่งเขตการใช้ประโยชน์แนวปะการัง จ. ภูเก็ต โดยได้ทดลองศึกษาและหาแนวทางดำเนินการในพื้นที่นำร่องบริเวณเกาะราชาใหญ่ เนื่องจากมีความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ สภาพแนวปะการัง รวมทั้งความเร่งด่วนของปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีปัญหาความขัดแย้งของการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน
โดยการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลการใช้ประโยชน์ตามกติกาที่ได้ตกลงกันไว้ รวมทั้งผลักดันข้อกำหนดต่างๆ ให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย ถ้ามีการกระทำผิด มีมาตรการลงโทษจะได้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืนต่อไป
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์