ข่าวสาร ข่าวทั่วไป ในแถบ อันดามัน ( ภูเก็ต, กระบี่, ระนอง, ตรัง, พังงา, สตูล )
ภูเก็ต, สรุป ?สปอร์ตคอมเพล็กซ์ภูเก็ต? เป็นสนามซ้อมกีฬาใช้งบฯ5,200ล้าน ( ข่าวภูเก็ต )
ผลศึกษาโครงการสปอร์ตคอมเพล็กซ์ ที่ภูเก็ตสรุปรอบสุดท้ายแล้ว รูปแบบที่เหมาะสมที่สุด คือ สนามฝึกซ้อมและแข่งกีฬาได้หลายชนิดกีฬา รวมทั้งการฟื้นฟูสมรรถภาพนักกีฬา ใช้เงินลงทุนกว่า 5,200 ล้านบาท ขณะที่โซนที่พักตากอากาศกำหนดที่ 200 ห้อง ลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท
วันนี้ (8 มิ.ย.) บริษัท อีโคซิสเต็ม เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด นำเสนอรายงานผลการศึกษาออกแบบโครงการศึกษาข้อมูลออกแบบก่อสร้างสปอร์ตคอมเพล็กซ์ (Sport Complex) จังหวัดภูเก็ต ฉบับสมบูรณ์ ภายหลังที่ได้ทำการศึกษามาเป็นเวลา 8 เดือน ด้วยงบประมาณผู้ว่าฯซีอีโอภูเก็ต 6 ล้านบาท โดยมีนายอุดมศักดิ์ อัศวรางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธาน ที่ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต
ผลสรุปการศึกษาออกแบบโครงการสปอร์ตคอมเพล็กซ์จังหวัดภูเก็ต ได้ข้อสรุปว่า สปอร์คตอมเพล็กซ์ที่ภูเก็ตจะเน้นเป็นสนามเพื่อการฝึกซ้อม และฟื้นฟูสมรรถภาพนักกีฬา ตามแนวคิดที่ต้องการให้เป็นสถานที่ เพื่อรองรับนักกีฬาจากต่างประเทศ เช่น ทีมฟุตบอลที่มีชื่อเสียงในยุโรป และรองรับการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติบางรายการ ทั้งกีฬาในร่มและกลางแจ้ง รวมทั้งเพื่อให้เป็นศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพของนักกีฬา และเป็นรีสอร์ตเพื่อสุขภาพ รองรับนักกีฬาและนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ บนเนื้อที่ 238 ไร่
แบ่งเนื้อที่การพัฒนาออกเป็น 3 โซน คือ โซนเอ มีพื้นที่ 40 ไร่ พัฒนาเป็นอาคารอเนกประสงค์ เพื่อจัดกิจกรรมต่างๆ โซนบี เป็นสนามซ้อมและแข่งขัน ขนาดพื้นที่ 60 ไร่ และโซนซี เป็นพื้นที่เพื่อพัฒนาเป็นที่พักตากอากาศและศูนย์กายภาพบำบัด ขนาดพื้นที่ 68 ไร่
สำหรับรูปแบบของสปอร์ตคอมเพล็กซ์ บริษัทที่ปรึกษาได้นำเสนอไว้ทั้งหมด 3 ทางเลือก ประกอบด้วย ทางเลือกแรก เป็นสนามที่เน้นกิจกรรมการฝึกซ้อม แข่งขันกีฬาได้ตลอดเวลา และฟื้นฟูสมรรถภาพนักกีฬา ต้องใช้เงินลงทุนก่อสร้างเบื้องต้น 5,026 ล้านบาท ประกอบด้วย อาคารอเนกประสงค์จุได้ 4,000 คน ลานอเนกประสงค์ ลานจอดรถยนต์ สนามฟุตบอลมาตรฐานมีหลังคาเปิด-ปิด สนามเทนนิสกลางแจ้ง 8 คอร์ต สนามไดรฟ์กอล์ฟ ที่พักตากอากาศขนาด 200 ห้อง และศูนย์กายภาพบำบัด เป็นต้น
ทางเลือกที่ 2 เน้นกิจกรรมฝึกซ้อม แข่งขันกีฬาได้หลายชนิด รวมทั้งที่พักนักกีฬา และฟื้นฟูสมรรถภาพนักกีฬา ประกอบด้วย ด้วย อาคารอเนกประสงค์จุได้ 4,000 คน ลานอเนกประสงค์ ลานจอดรถยนต์ สนามฟุตบอลมาตรฐานมีหลังคาเปิด-ปิด สนามเทนนิสที่มี 11 คอร์ต สนามกีฬาโลดโผน อาคารที่พักนักกีฬาขนาด 150 ห้อง อาคารกีฬาในร่ม 2 อาคาร ที่พักตากอากาศและศูนย์กายภาพบำบัด ใช้เงินลงทุนก่อสร้างเบื้องต้นประมาณ 5,206 ล้านบาท
ทางเลือกที่ 3 เป็นสนามเพื่อการฝึกซ้อมและจัดแสดงสินค้าประเภทต่างๆ และการฟื้นฟูสมรรถภาพนักกีฬา ใช้เงินลงทุนก่อสร้างเบื้องต้น 2,045 ล้านบาท ประกอบด้วย อาคารอเนกประสงค์จุได้ 4,000 คน ลานอเนกประสงค์ ลานจอดรถยนต์ สนามฟุตบอลมาตรฐาน อาคารกีฬาในร่ม 2 อาคาร ห้องพักนักกีฬา 150 ห้อง สนามกีฬาผาดโผน อาคารอเนกประสงค์ ที่พักตากอากศ และศูนย์กายภาพบำบัด
ผลการศึกษายังระบุอีกว่า หากวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์แล้ว ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ยกเว้นทางเลือกที่ 3 ที่เน้นสนามฟุตบอลเป็นสนามฝึกซ้อม และนำอาคารอเนกประสงค์ มาใช้ในการจัดการทางธุรกิจในรูปแบบอขงการแสดงสินค้า ซึ่งสามารถทำให้เกิดรายได้จนเกิดความเหมาะสมในเชิงเศรษฐศาสตร์
ส่วนทางเลือกอื่นๆ ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เพราะลักษณะโดยทั่วไปจะเป็นสนามกีฬา ที่ไม่ได้เน้นการตอบแทนเชิงเศรษฐศาสตร์โดยตรง แต่เน้นผลตอบแทนเชิงสังคมหรือผลตอบแทนโดยทางออ้มจากโครงการ เช่น การส่งเสริมภาพลักษณ์ ส่งเสริมชื่อเสียงของเมืองจากการจัดการแข่งขัน ซึ่งถือเป็นการประชาสัมพันธ์เมือง และส่งเสริมการท่องเที่ยว อันจะนำมาซึ่งรายได้จากรายการของนักท่องเที่ยว ที่เข้ามาท่องเที่ยวในภูเก็ต
ดังนั้นโครงการสปอร์ตคอมเพล็กซ์ของภูเก็ต ไม่ควรมุ่งเน้นเฉพาะด้านเศรษฐศาสตร์เท่านั้น แต่ควรพิจารณาในด้านอื่นๆ ด้วย เพราะจากการศึกษาระเวลาในการคืนทุน ทางเลือกแรกอยู่ในปีที่ 29 ทางเลือกที่ 2 ปีที่ 26 และทางเลือกที่ 3 ปีที่ 9 จุดคุ้มทุนอยู่ที่ปีที่ 21 ส่วน IRR จะอยู่ที่ 4.91% ในทางเลือกที่ 1 4.81% ในทางเลือกที่ 2 และ 13.28% ในทางเลือกที่ 3
สำหรับรูปแบบการลงทุน ในเบื้องต้นจะต้องของบประมาณจากรัฐบาลในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเข้าสู่โครงการ 75 ล้านบาท ทั้งถนน ประปา ไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนพื้นที่โซนเอ ที่จะลงทุนในส่วนของอาคารอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ ลานจอดรถยนต์ และพื้นที่ลานอเนกประสงค์ ให้เอกชนที่สนใจเข้ามาลงทุน
ส่วนพื้นที่โซนบี ซึ่งเป็นพื้นที่เป็นสนามกีฬา จะต้องของบประมาณจากรัฐบาลมาลงทุน หรือใช้งบประมาณบางส่วนของการเช่าพื้นที่ในโซนซีมาพัฒนาอีกด้วย และโซนซีซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับก่อสร้าง ที่พักตากอากาศระดับ 5 ดาว จำนวน 200 ห้องใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบา และศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพนักกีฬาให้เป็นการลงทุนโดยภาคเอกชน
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาได้สรุปทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด สำหรับจังหวัดภูเก็ต คือ ทางเลือกที่ 2 ที่ใช้เงินลงทุนประมาณ 5,200 ล้านบาท ราคาดังกล่าวสูงเนื่องจากสนามฟุตบอลมาตรฐานมีหลังคาเปิด-ปิดได้ (Movable Roof) อย่างไรก็ตามหากมีการปรับเปลี่ยนหลังคาเปิด-ปิด ให้เป็นหลังคากันฝนธรรมดา จะทำให้เงินลงทุนลดลงประมาณ 1,700 ล้านบาท เหลือค่าก่อสร้างโครงการประมาณ 3,500 ล้านบาท ส่วนที่ภาคเอกชนต้องลงทุนก่อสร้างที่พักตากอากาศ ห้องพักนักกีฬาหรู และศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพอีก 2,500 ล้านบาท
ด้านนายพรหมโชติ ไตรเวช ผู้อำนวยการศูนย์ท่องเที่ยว กีฬาและนันทนาการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ภายหลังจากที่ผลการศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว จังหวัดภูเก็ต จะนำเสนอผลการศึกษาไปยังกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อเสนอครม.รับทราบ และขอความเห็นชอบจากสภาพัฒน์ รวมทั้งเสนอครม.รับทราบ เพื่อของบประมาณมาดำเนินการก่อสร้าง แต่ในเบื้องต้นจังหวัดภูเก็ต ได้ของบประมาณจำนวน 75 ล้านบาท ในปี 2550-2551 เพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งถนนเข้าสู่โครงการ ไฟฟ้า ประปา หลังจาก จังหวัดภูเก็ตจะมีการประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนได้รับทราบ ทั้งในส่วนของสนามกีฬาและที่พักตากอากาศ เพื่อดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุน
นายพรหมโชติ กล่าวอีกว่า สำหรับการเคลื่อนไหวของนักลงทุน ที่จะเข้ามาลงทุนในโครงการนี้ เท่าที่ได้รับทราบจากผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต มีนักลงทุนไม่ต่ำกว่า 2 รายสนใจโครงการ และขณะนี้มีนักลงทุน ทั้งไทยและต่างชาติติดต่อมาที่อบต.ไม้ขาวแล้ว 3-4 ราย รวมทั้งนักลงทุนคนไทยที่ลงทุนโรงแรม รีสอร์ต ที่กระบี่ก็สนใจที่เข้ามาลงทุนในส่วนของที่พักตากอากาศ
?เชื่อว่าเมื่อมีการประชาสัมพันธ์โครงการออกไป และมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแล้ว นักลงทุนคงสนใจติดต่อเข้ามามากกว่านี้อย่างแน่นอน เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่สงบ สำหรับการลงทุน เป็นที่พักตากอากาศ ระดับ 5 ดาว ที่เงียบสงบมาก?
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์