ประมงพื้นบ้าน ภูเก็ต ยื่นหนังสือหนุนข้อตกลงแก้ไปปัญหาประมงพื้นบ้าน
วันนี้ (14 มิ.ย. 2550) ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด ภูเก็ต นายสนิท มาสเสมอ ตัวแทนประมงพื้นบ้านป่าคลอก ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ. ภูเก็ต พร้อมด้วยเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านตำบลป่าคลอก ตัวแทนประมงพื้นบ้าน ชุมชนปลากะตัก ชุมชนบ้านฉลอง ชุมชนพระบารมี 8 อ่าวโต๊ะขุน และบ้านบางคณฑี จำนวนประมาณ 15 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อนายสมิทธิ์ ปาลวัฒน์วิไชย รองผู้ว่าราชการจังหวัด ภูเก็ต เรื่องขอสนับสนุนบันทึกข้อตกลง ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสมัชชาคนจน วันที่ 28 พฤษภาคม 2550 ( การแก้ไขปัญหาประมงพื้นบ้าน )
นายสนิทกล่าวว่า การเดินทางมายื่นหนังสือต่อจังหวัด ภูเก็ต ครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนบันทึกข้อตกลงระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสมัชชาคนจน วันที่ 28 พฤษภาคม 2550 ( การแก้ไขปัญหาประมงพื้นบ้าน ) ตามข้อตกลงฉบับที่จัดทำที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สมัชชาคนจนและสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ เมื่อวัน ที่ 25 พฤษภาคม 2550 ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ห้อง 124 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศาสตราจารย์ ดร.ธีระ สูตะบุตร เป็นประธาน นายบรรพต หงษ์ทองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายจรัลธาดา กรรณสูต อธิบดีกรมประมง และคณะตัวแทนสมัชชาคนจน สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้
ทั้งนี้ ในที่ประชุมมีได้ข้อยุติในการแก้ปัญหาประมงพื้นและการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง ดังนี้
1.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นชอบให้มีการปรับปรุงแก้ไขประกาศประทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดเขตห้ามใช้เครื่องมืออวนรุน อวนลาก ที่ใช้เรือยนต์ทำการ ประมง ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2515 โดยให้ขยายแนวเขตหวงห้ามจาก 3,000 เมตร เป็น 5,400 เมตร ( 3 ไมล์ทะเล ) ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน
2.กรณีเครื่องมืออวนรุนที่ใช้กับเรือยนต์ทำการประมง สมัชชาคนจนและกรมประมงมีความ เห็นร่วมกันว่าควรยกเลิก โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำเรื่องยกเลิก หากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่สามารถดำเนินการยกเลิกได้ ให้นำเรื่องเสนอคณะ รัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
3.โครงการพัฒนาฐานการผลิตอาหารทะเลของประเทศ ( Sea Food Bank ) กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณายกเลิกโครงการ
4.กรณีเครื่องมืออวนลากที่ใช้กับเครื่องยนต์ทำการประมง สมัชชาคนจนและกรมประมง มีความเห็นร่วมกันว่า ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายที่ชัดเจน ในการลดจำนวนเครื่องมืออวนลากใช้กับเครื่องยนต์ทำการประมงลง และมาตรการในการควบคุม โดยใช้หลักการการบริหารจัดการ
ดังนั้น ประมงพื้นบ้าน และประมงผู้รักการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ทำประมงที่แท้จริงได้อาศัยหล่อเลี้ยงมาหลายชั่วอายุคน จากการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรประมง ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อีกทั้งการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในอนาคต จึงมีความคิดเห็นแนวทางตามข้อตกลงจากการปรึกษาเป็นไป เพื่อความยั่งยืนบนรากฐานของแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ตามความประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงของเรา จึงขอสนับสนุนข้อตกลงระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสมัชชาคน วันที่ 28 พฤษภาคม 2550
นายสมิทธิ์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่านำหนังสือดังกล่าวส่งต่อไปยังหน่วยเหนือ เพราะเรื่องที่มีการยื่น เป็นเรื่องของนโยบายการตัดสินเป็นหน้าที่ของกระทรวง โดยจังหวัดเป็นเพียงหน่วยประสานงาน เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์