พ่อเมือง ภูเก็ต สั่งตั้งกรรมการ จัดทำข้อกำหนดควบคุมธุรกิจดำน้ำ โดยมอบให้ททท.เป็นเจ้าภาพหลัก บูรณาการความร่วมมือในการใช้กฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง มาจัดการบริษัทดำน้ำที่ไม่ปฏิบัติตามกฎกติกา
วันนี้( 12 มิ.ย.)ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัด ภูเก็ต นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัด ภูเก็ต เป็นประธานการประชุม Morning Talk ของส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด ตัวแทนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้เขต 4 สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัด ภูเก็ต สมาคมดำน้ำ ทีดี เอ(ประเทศไทย) สมาคมมัคคุเทศก์จังหวัด ภูเก็ต และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
ในครั้งนี้ได้มีการหารือเกี่ยวข้องการแก้ปัญหาการประกอบธุรกิจดำน้ำ หลังจากมีการร้องเรียนผ่านทางเว็บไซต์ กรณีนักดำน้ำไทยคนหนึ่งซึ่งเป็นช่างภาพนิตยสารอสท.ถูกชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นครูฝึกสอนดำน้ำดึงหน้ากากดำน้ำ ขณะกำลังถ่ายรูปปะการังและปลาการ์ตูนบริเวณกองหินมิชลิน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหมู่เกาะสิมิลันกับสุรินทร์ และได้ใช้มีดมาข่มขู่ด้วย จากการที่เขาได้ติดตามไปพบว่าชาวต่างชาติดังกล่าว เป็นเจ้าของบริษัทดำน้ำ นอกจากนี้ในเว็บไซต์ ยังได้ได้ระบุด้วยการพฤติกรรมดังกล่าว ถือเป็นการสร้างอิทธิพล และยำยีคนไทย
ตัวแทนจาก ททท.สำนักงานภาคใต้เขต 4 ชี้แจงว่า เรื่องที่เกิดขึ้นทราบว่า ผู้เสียหายกับชาวต่างชาติคนดังกล่าวได้มีการพูดคุยและขอโทษกันไปแล้ว และพฤติกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนบุคคล ซึ่งตาม พ.ร.บ.ไม่ได้ควบคุมไปถึงจุดนั้น แต่จากการตรวจสอบการจดทะเบียนบริษัทพบว่า มีการขออนุญาตถูกต้อง ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2535 เพราะเรื่องของการดำเนินธุรกิจถือเป็นการนำเที่ยวอย่างหนึ่ง
ในส่วนของการตรวจสอบไลน์เส้นของนักดำน้ำ ก็จะเป็นการใช้ของสมาคมดำน้ำสากล เช่น แพดดี้ ซีแมท เอสเอสไอซี เป็นต้น ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลก โดยในส่วนของการมาจดทะเบียนบริษัทไม่ได้มีการกำหนดว่าจะต้องเป็นสมาชิกของสมาคมดำน้ำของไทยแต่อย่างใด
ตัวแทนของ ททท.สำนักงานภาคใต้เขต 4 กล่าวว่า ที่ผ่านมาก็ทราบปัญหาที่เกิดขึ้น และอยู่ระหว่างการหาแนวทางการแก้ เพื่อควบคุมในส่วนนี้ โดยได้มีการหารือกับสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว เพื่อดำเนินการผลักดันในเรื่องนี้ต่อไป
ด้านนายภาณุ มาสวงศา อุปนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัด ภูเก็ต กล่าวว่า ในส่วนของการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทนั้นไม่มีปัญหา แต่ที่มีปัญหา เมื่อมีการไปประกอบธุรกิจ เพราะไม่สามารถที่จะตรวจสอบในส่วนขององค์ประกอบได้ เช่น อินสเปกเตอร์ หรือผู้ควบคุมการสอน ไดร์ฟมาสเตอร์ หรือใบอนุญาตดำน้ำ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องของความปลอดภัย แต่ปรากฏว่าเราไม่สามารถที่จะควบคุมได้ จึงก่อให้เกิดปัญหา
ในขณะที่นายปกรณ์ เกตุกรรณ์ รองนายกสมาคมดำน้ำ ทีดี เอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับการประกอบธุรกิจดำน้ำ เนื่องจากภาครัฐไม่มีองค์กรที่มีความชำนาญหรือดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากเรื่องของการดำน้ำมีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง เช่น การขายอุปกรณ์ การขายทัวร์ การสอนดำน้ำ เป็นต้น ซึ่งแต่ละส่วนจะมีองค์ประกอบการที่แตกต่างกัน จึงทำให้ไม่สามารถที่จะควบคุมได้
ดังนั้นทางออก คือ ควรที่จะมีผู้มีความชำนาญโดยเฉพาะเข้ามาดูแลในส่วนนี้ หรือในส่วนของชาวต่างชาติที่มาสอนดำน้ำ ซึ้งพบว่าบางรายเข้ามา 3 เดือน หรือ 6 เดือน เมื่อตรวจคนเข้าเมืองออกใบอนุญาตแล้ว ก็ควรที่จะระบุรายละเอียดเพื่อให้มารายงานตัวว่า ประกอบการอยู่ที่ใดอย่างไร ซึ่งจะทำให้ควบคุมได้ง่ายขึ้น และสามารถที่จะจัดเก็บภาษีได้ด้วย เพราะปัจจุบันผู้สอนดำน้ำที่มีความเชี่ยวชาญซึ่งเป็นคนไทยมีน้อย
ส่วนของร้านดำน้ำที่มีปัญหา เนื่องจากเมื่อมีการประกอบการแล้วปรากฏว่า ไม่สามารถทำได้ก็มีการปิดร้านหนี โดยปล่อยให้คนไทยที่เป็นหุ้นส่วนต้องมารับผิดชอบ ดังนั้น ในการอนุญาตก็ควรที่จะการตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่วม เพื่อจะได้มีการตรวจสอบในระดับหนึ่งด้วยป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ส่วนกรณีที่ก่อนหน้านี้ จังหวัดได้มีการออกประกาศให้ผู้ประกอบการมาขึ้นทะเบียน และมีการร้องต่อศาลปกครองนั้น เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องของรายละเอียดซึ่งไม่ชัดเจน แต่เห็นด้วยกับการที่จะมาให้ขึ้นทะเบียนเพื่อที่จะสามารถควบคุมได้
ด้านนายนิรันดร์ กล่าวภายหลังจากรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ว่า ให้ ททท. ไปตั้งคณะทำงาน โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น จัดหางาน ตรวจคนเข้าเมือง สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว สมาคมดำน้ำ สมาคมมัคคุเทศก์ เป็นต้น มาร่วมเป็นคณะทำงานด้วย และตนจะมอบให้รองฯวรพจน์ รัฐสีมา เป็นประธาน เพื่อไปสรุปปัญหาและแนวทางในการแก้ไข เพื่อจะได้นำมาออกเป็นประกาศจังหวัด ในการควบคุมดูแลในเรื่องนี้ให้ชัดเจนเป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพราะที่ผ่านมาการทำงานของแต่ละหน่วยต่างคนต่างทำ ไม่มีการบูรณาการทำให้การแก้ปัญหาไม่สามารถที่จะทำได้ และต่างฝ่ายก็โทษกันไปมา ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อส่วนรวม
กรณีการออกประกาศจังหวัดก่อนหน้านี้ และมีผู้ประกอบการจำนวน 55 คน ฟ้องศาลปกครอง เพื่อขอให้ทุเลาการขึ้นทะเบียน และให้ประกาศดังกล่าวเป็นโมฆะ นั้น นายนิรันดร์ กล่าวว่า ในประเด็นแรกศาลได้วินิจฉัยให้ทางจังหวัดทุเลาคำสั่งดังกล่าวออกไปก่อน ส่วนประเด็นของการโมฆะคำสั่งนั้นอยู่ในขั้นตอนของการเดินเผชิญสืบ ซึ่งจะใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 เดือน ซึงก็จะได้นำมติของทางจังหวัดในครั้งนี้ไปประกอบด้วย
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์