มูลนิธิเพื่อนหญิงระบุ ภูเก็ต ติดโผอันดับ 2 พื้นที่สีแดงฝั่งอันดามันเสี่ยงค้าประเวณีเด็ก-สตรี โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว หลังมีการร้องเรียนสถานบริการในพื้นที่จัดให้มีการค้าประเวณีสาวลาว เคยประสานตำรวจทลายมาแล้วแต่เจ้าตัวปฏิเสธ
วันนี้ (5 มิ.ย.) นายสมิทธิ์ ปาลวัฒน์วิไชย รองผู้ว่าราชการจังหวัด ภูเก็ต กล่าวในการประชุม ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ จ. ภูเก็ต หรือ ศป.คม.จ. ภูเก็ต ครั้งที่ 2 ประจำปี 2550 โดยมีหน่วยงานราชการและองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องเด็กและสตรีเข้าร่วมที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัด ภูเก็ต ว่า การประชุมครั้งนี้สืบเนื่องจากที่ จ. ภูเก็ต ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 2 พ.ย.2548 ให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการศูนย์ปฏิบัติการด้านการค้ามนุษย์ จ. ภูเก็ต ขึ้น
เพื่อให้สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ตลอดจนการลงนามบันทึกข้อตกลงหรือ MOU ร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการกรณีการค้ามนุษย์ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันตก
ทั้งนี้ ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อนหญิงและองค์กรพิทักษ์สิทธิสตรีในประเทศไทย ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ที่ผ่านมามูลนิธิเพื่อนหญิงได้รับข้อมูล และการประสานจากตำรวจลาว ว่า มีหญิงสาวชาวลาวเป็นจำนวนมาก ถูกบังคับ กักขังหน่วงเหนี่ยวให้ค้าประเวณี ในสถานบริการแห่งหนึ่งใน จ. ภูเก็ต
จากนั้นได้ขอความช่วยเหลือมายัง พ.ต.อ.ชลิต ถิ่นธานี รอง ผบก.ภ.จ. ภูเก็ต เพื่อนำกำลังเข้าตรวจสอบและจับกุมเจ้าของสถานบริการ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้นำกำลังเข้าตรวจสอบ ซึ่งพบหญิงสาวชาวลาว 2 คน อายุ 19-20 ปี จึงได้เข้าช่วยเหลือโดยได้มีการดำเนินคดีกับเจ้าของคาราโอเกะแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.รัษฎา อ.เมือง ภูเก็ต
ในข้อหา “รู้ว่าเป็นคนต่างด้าว และหนีเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย และให้ที่พักพิง ซ่อนเร้น ช่วยเหลือด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม”
ส่วน 2 สาวชาวลาวได้ให้ปากคำเพียงว่า เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้เดินทางมาจากแขวงสุวรรณเขต ประเทศลาว เข้ามาในประเทศไทยทาง จ.หนองคาย โดยถูกชักชวนมาทำงานที่ร้านคาราโอเกะดังกล่าว แต่กลับปฏิเสธว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีแต่อย่างใด
ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่สามารถดำเนินคดีกับเจ้าของร้านในข้อหาเป็นธุระจัดการได้ จึงควบคุม 2 สาวชาวลาว ส่ง ตม. ภูเก็ต ในข้อหา “เป็นคนต่างด้าวหลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย เพื่อผลักดันกลับประเทศ”
จากนั้นมูลนิธิเพื่อนหญิงได้ประสานมายัง ตม. ภูเก็ต เพื่อขอรับตัว 2 สาวชาวลาวไปดูแลโดยได้ส่งตัวไปรับการฝึกฝนอาชีพที่สถานสงเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพบ้านศรีสุราษฎร์ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อรอการส่งตัวกลับประเทศลาว
เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวเพิ่มเติมต่อที่ประชุมถึงปัญหา และการแก้ไขปราบปรามการค้ามนุษย์ในพื้นที่ จ. ภูเก็ต ด้วยว่า เมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา ภูเก็ต เคยมีเคยตัวอย่างเกี่ยวกับซ่องโสเภณี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนบางกอก อ.เมือง จนเกิดเพลิงไหม้ และทำให้โสเภณีที่ถูกล่ามโซ่ กักขังหน่วงเหนี่ยวถูกไฟคลอกเสียชีวิต 5 ราย
โดยเจ้าของซ่องถูกจับกุมศาลพิพากษาจับคุกกว่า 10 ปีมาแล้ว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ในพื้นที่ไม่มีการลักลอบขายบริการทางเพศ หรือการค้ามนุษย์ ซึ่งปัจจุบัน จ. ภูเก็ต ติดอันดับ 2 ใน 6 จังหวัดฝั่งอันดามัน รองมาจาก จ.ระนอง ที่ถูกระบุว่าเป็นพื้นที่สีแดง เสี่ยงกับการค้ามนุษย์ในประเภทต่างๆ
ด้าน พ.ต.อ.ชลิต ถิ่นธานี รอง ผบก.ภ.จ. ภูเก็ต กล่าวสรุปผลการกวาดล้างจับกุม และช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวที่ถูกล่อลวงมาทำงานในพื้นที่ว่า สถิติคดีอาญา หรือการปราบปรามการค้าประเวณีในปี 2549 มีการจับกุม จำนวน 589 ราย พบผู้ค้าประเวณีจำนวน 2,508 คน
ส่วนคดีที่มีสถานบริการอีกแห่งหนึ่งในตัวเมือง ภูเก็ต นอกเหนือจากร้านคาราโอเกะดังกล่าว ซึ่งมีการใช้แรงงานสาวชาวลาวค้ากามนั้น ซึ่งทางตำรวจภูธรจังหวัด ภูเก็ต ได้เข้าจับกุมสาวชาวลาวได้ 11 คน แต่ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธไม่ยอมรับว่า ค้าประเวณี พนักงานสอบสวนจึงไม่สามารถดำเนินคดีในข้อหาหนักแก่เจ้าของกิจการได้
โดยได้แจ้งข้อหาแก่สาวชาวลาวทั้งหมด “ประกอบอาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต และหลบหนีเข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต” เท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อนหญิงกลับมาโวยวายต่อว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ไม่มีการคัดแยกหญิงที่ถูกบังคับให้ค้าประเวณีอย่างถูกต้องตามขั้นตอน
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ที่ประชุมได้มีข้อสรุปร่วมกันว่า จากนี้ไปเมื่อมีการจับกุม หรือควบคุมตัวหญิงสาวต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาทำงาน หรือค้าประเวณีในพื้นที่จะต้องมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานราชการ มูลนิธิ องค์กรอิสระต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและสตรีมาร่วมดำเนินการด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาระหว่างองค์กร
ด้านรองผู้ว่าราชการจังหวัด ภูเก็ต กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน ภูเก็ต เป็นจังหวัดที่มีความเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจมีโครงสร้างพื้นฐาน มีสถาบันการศึกษา สถานบริการ และมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม เป็นเหตุทำให้มีการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานจากทุกภาคของประเทศ และต่างประเทศเข้ามาทำงาน และประกอบธุรกิจเป็นจำนวนมาก โดยมีแรงงานต่างด้าวทั้งที่จดทะเบียนและไม่จดทะเบียนหลบหนีเข้าเมืองเป็นจำนวนมาก
ขณะเดียวกันมีการค้าประเวณี ทั้งแบบเปิดเผย และแบบแอบแฝง แต่เมื่อมีการจับกุมคดีค้าประเวณีผู้ต้องหาหรือเหยื่อมักจะให้ปากคำว่า เป็นการสมัครใจ ไม่ได้ถูกบังคับ
สำหรับกลุ่มเสี่ยง คือ กลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่มีค่านิยมทางวัตถุ มีการแอบแฝงขายบริการ เพื่อแลกเปลี่ยนกับความต้องการทางวัตถุนิยม อีกทั้งยังมีหญิง และเด็กที่สมัครใจและไม่สมัครใจมุ่งสู่ธุรกิจบริการทางเพศ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่ง จ. ภูเก็ต มีสถานะเป็นทั้งต้นทาง ทางผ่านและปลายทาง
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์