ภูเก็ต ขีดเส้นนายจ้างนำแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนก่อนหมดสิทธิ์ 30 มิ.ย.50 หลังหมดเขตปราบปรามจริงจัง
นายกิตติ หนุ่ยศรี นักวิชาการแรงงาน 7 ว. สำนักงานจัดหางาน จังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงการขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 เห็นชอบแนวทางการจัดระบบการจ้างแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน ซึ่งใบอนุญาตหมดอายุวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 และวันที่ 30 มิถุนายน 2550 อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับ และทำงานต่อไปอีก 1 ปี สิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 และวันที่ 30 มิถุนายน 2551 ตามลำดับนั้น ซึ่งมีแรงงานที่ต้องต่อทะเบียนจำนวน 35,000 คน
ในส่วนของจังหวัดภูเก็ต ปรากฏว่าแรงงานต่างด้าวที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 จำนวน 11,544 คน ต่ออายุเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 11,539 คน แรงงานต่างด้าวที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 30 มิถุนายน 2550 จำนวน 20,526 คน ซึ่งแรงงานต่างด้าวจำนวนนี้สามารถยื่นคำขอได้ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2550 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2550 ผลการดำเนินการดังกล่าวปรากฏว่าการเปิดต่อทะเบียนในรอบ 2 จนถึงวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 แรงงานต่างด้าวได้มายื่นขอรับใบอนุญาตทำงานเพียง 6,685 คน คงเหลือจำนวน 13,841 คน คิดเป็น 32.56% ซึ่ งถือว่ามีจำนวนน้อยอยู่มาก เพราะฉะนั้นนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวและใบอนุญาตหมดในวันที่ 30 มิ.ย. 50 ให้เร่งนำแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนโดยเร็วที่สุดเพื่อเมื่อครบกำหนดระยะเวลา คือวันที่ 30 มิ.ย. 50 แล้ว ทางเจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการปราบปรามกวาดล้างแรงงานเถื่อนอย่างเข้มงวด
นายกิตติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงาน นั้นกรณีแรงงานต่างด้าวที่ทำงานกับนายจ้างรายเดิม “ให้ยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตทำงาน” ตามแบบ ตท.13 พร้อมด้วยเอกสารหลักฐานดังนี้ ใบอนุญาตทำงานเดิม/หนังสือโควตาเดิม/ใบรับรองแพทย์ฉบับจริงหรือสำเนาใบเสร็จค่าตรวจสุขภาพ
ส่วนกรณีแรงงานต่างด้าวที่ทำงานกับนายจ้างรายใหม่ ให้ยื่นขอใบอนุญาตทำงานตามแบบ ตท.13 พร้อมเอกสารหลักฐานดังนี้ สำเนาใบอนุญาตทำงานเดิมหรือสำเนาหลักฐานการยื่นขอ/แผนที่แสดงที่ตั้งสถานที่ทำงานของคนต่างด้าว/สำเนาในภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภพ.20)หมายเลขทะเบียนผู้เสีย และพร้อมกับค่าธรรมเนียมต่ออายุใบอนุญาตทำงาน 1,900 บาทต่อคนต่อปี
“ถ้านายจ้างและคนต่างด้าวที่ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มีความผิดและโทษดังนี้ นายจ้างรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน หรือรับคนต่างด้าวเข้าทำงานที่มีลักษณะงานหรือเงื่อนไขในการทำงานแตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตทำงาน โทษจำคุกไม่เกิด 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนคนต่างด้าว ทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้นจึงขอให้นายจ้างนำแรงงานต่างด้าวยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานโดยเร็ว หากพื้นกำหนดวันที่ 30 มิถุนายน 2550 จะดำเนินการตรวจสอบดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป”
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์