ฮือฮาเสี่ยหนุ่มจาก ภูเก็ต ใจป้ำ ควักเงินสด 3 แสนบาท ซื้อเกวียนเก่ากึ้ก เผย เป็นเกวียนเล่มที่ใช้ในพิธีสร้างหลักเมืองและวัตถุมงคล “จตุคาม-รามเทพ” เมืองนครศรีธรรมราชปี 2530
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางใน จ.นครศรีธรรมราช และ จ.ภูเก็ต กรณีที่ นายประสงค์ จินตนพันธ์ อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 5/12 ถนนเจ้าฟ้า ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต นักธุรกิจพัฒนาอสิงหาริมทรัพย์และเจ้าของกิจการร้านทองหลายแห่งทั้งใน จ.ภูเก็จ และพังงา ได้ซื้อเกวียนที่ใช้ในการบรรทุกเครื่องอัฐบริขารในการจัดสร้างหลักเมืองนครศรีธรรมราช และวัตถุมงคลจตุคาม-รามเทพ ในปี 2530 ซึ่งเป็นเกวียนเก่าๆ เล่มหนึ่งเท่านั้น แต่นายประสงค์ ซื้อมาจากเจ้าของเดิมในราคาสูงถึง 3 แสนบาท
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายประสงค์ จินตนพันธ์ เสี่ยใจป้ำรายนี้ เปิดเผยว่า เกวียนเล่มดังกล่าวตนซื้อมาจากนายสุวิทย์ รัตนะ อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 36/3 หมู่ 3 ต.ท่าขึ้น อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช โดย นายสุวิทย์ ซื้อต่อมาจากนายเสถียร ไม่ทราบนามสกุล สารวัตรกำนัน ต.ท่าศาลา ในปี 2530 ซึ่งเป็นเจ้าของเดิม สำหรับประวัติของเกวียนเล่มดังกล่าวนี้นั้น
เมื่อปี 2530 คณะกรรมการจัดสร้างหลักเมืองและวัตถุมงคลได้ใช้เกวียนจำนวน 3 เล่ม พร้อมควายสำหรับลากเกวียนเล่มละ 1 ตัว หรือที่เรียกว่า ควายเทียมเกวียน และเกวียนเล่มนี้เป็น 1 ใน 3 ที่ถูกนำไปใช้ในการบรรทุกเครื่องอัฐบริขารที่จะใช้ในการประกอบพิธีสร้างหลักเมืองและวัตถุมงคลจตุคาม-รามเทพ และร่วมในขบวนแห่เสาหลักเมืองไปประกอบพิธีกรรมต่างๆ ทั้งที่วัดพระมหาธาตุวรวมหาวิหาร ศาลหลักเมือง และจุดสำคัญอื่น โดยในพิธีครั้งนั้นเขาไม่เรียกเกวียนแต่จะเรียกว่า “จวนจตุคาม-รามเทพ”
หลังเสร็จพิธีสารวัตรกำนันได้นำเกวียนเล่มนี้มาเก็บไว้อย่างดี และสารวัตรกำนันได้ขายควายที่ใช้เทียมเกวียนเล่มนี้ให้กับนายทุนใน อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี นำไปลงสนามในกีฬาชนควาย ซึ่งเป็นกีฬาที่โด่งดังของ อ.เกาะสมุย โดยทราบว่าควายตัวดังกล่าวชนะการแข่งขันถึง 4 ครั้ง และปลดระวางไปในที่สุด สารวัตรกำนันคนดังกล่าว จึงขายเกวียนให้กับนายสุวิทย์ โดยนายสุวิทย์ก็เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี และมีนายทุนมาขอซื้อหลายคนให้ราคาตั้งแต่ 50,000-100,000 บาท แต่นายสุวิทย์ไม่ยอมขาย จนตนไปติดต่อขอซื้อในราคา 300,000 บาท นายสุวิทย์ จึงยอมขายให้ตน
หลังจากนั้น ตนจึงว่าจ้างรถบรรทุก 6 ล้อ ในราคา 20,000 บาท นำกลับไปเก็บไว้ที่บ้านใน จ.ภูเก็ต รวมค่าใช้จ่ายทั้งค่าเกวียน ค่าขนส่ง ค่านายหน้า และค่าเดินทางไปมาระหว่างนครศรีธรรมราช-ภูเก็ต หลายครั้งรวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการติดต่อซื้อขายรวมเกือบ 400,000 บาท ส่วนเกวียนที่ใช้ในพิธีเดียวกันอีก 2 เล่มหลังเสร็จพิธีทราบว่าเก็บรักษาไม่ดี จึงชำรุดผุพังไปหมดแล้ว
นายประสงค์ กล่าวต่อไปอีกว่า ตนเพิ่งจะเข้าสู่วงการวัตถุมงคลจตุคาม-รามเทพ เต็มตัวเมื่อต้นปี 2550 นี้เอง แต่ก่อนหน้านี้ ได้ศึกษาเรื่องจตุคาม-รามเทพ มาบ้างพอสมควร และตนเชื่อมั่นในบารมีขององค์พ่อจตุคาม-รามเทพ เป็นอย่างมาก ในตอนแรกตนต้องการซื้อวัตถุมงคลจตุคาม-รามเทพ รุ่นปี 2530 ราคาองค์ละเป็นล้านบาท แต่ตนไม่แน่ใจว่าเป็นของแท้หรือไม่ จนตนทราบข่าวเรื่องเกวียนเล่มดังกล่าวและสืบดูจนแน่ใจว่าเป็นเกวียนเล่มที่เกี่ยวข้องกับพิธีการจัดสร้างหลักเมืองและวัตถุมงคลจตุคาม-รามเทพ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี 2530 จริง
ตนจึงไม่ลังเลเลยตกลงซื้อทันทีในราคา 300,000 บาท เมื่อรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็เกือบ 400,000 บาท ซึ่งตนไม่เสียดายเงิน 400,000 บาท ในการซื้อเกวียนเล่มนี้เลย ตนเรียกว่า เกวียนจตุคาม-รามเทพ เมื่อนำมาถึง จ.ภูเก็ต พรรคพวกเพื่อนฝูงและเพื่อนบ้านที่ทราบข่าวแห่มาขอชมอย่างเนืองแน่นทีเดียว
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์