รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ประกอบการลงพื้นที่ประชุมร่วมตำรวจภาค 8 เร่งปราบปรามสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ในพื้นที่สีแดง “ภูเก็ต กระบี่ สมุย” เผย ในแต่ละปีสินค้าถูกละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ต่ำกว่า 6 พันล้านบาท
วันนี้ (29 พ.ค.) พล.ต.ท.ธีรจิตร์ อุตมะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หัวหน้าฝ่ายปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ประชุมร่วมกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาภาคเอกชน และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ที่ห้องประชุมสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองภูเก็ต เพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการในการปราบปรามสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
รวมทั้งทำความเข้าใจกับตำรวจในพื้นที่ถึงขั้นตอนการดำเนินคดีกับผู้ที่ลักลอบจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการทำงาน ซึ่งนับวันปัญหาการลักลอบจำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์นับวันจะมีความรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง
นายสุทธิศักดิ์ ประสาสน์ครุการ กรรมการและผู้อำนวยการสายงานกฎหมายและปราบปรามบริษัท จัดเก็บลิขสิทธิ์ไทย จำกัด ในเครือบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) และในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาภาคเอกชน กล่าวว่า ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ขณะนี้หน่วยงานตำรวจหันมาให้ความสนใจในเรื่องของการปราบปรามการละเมิดสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา สินค้าไม่ว่าจะเป็น CD เพลง คาราโอเกะ ภาพยนตร์ และสินค้าอื่นๆ ถูกละเมิดร้อยละ 60% และคิดว่าหลังจากนี้ความรุนแรงของปัญหาจะลดลง ถ้ามีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด
สำหรับพื้นที่ที่จะต้องมีการเฝ้าระวังมากที่สุด คือ พื้นที่ที่ได้รับการประเมินว่าเป็นพื้นที่สีแดงที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงที่สุด สำหรับในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนนั้นมี 3 พื้นที่ด้วยกัน คือ จังหวัดภูเก็ตที่หาดป่าตอง จังหวัดกระบี่ที่หาดอ่าวนาง และจังหวัดสุราษฎร์ที่เกาะสมุย ซึ่งการละเมิดสินค้านั้นมีทุกประเภททั้งเพลง ภาพยนตร์ เครื่องหนัง นาฬิกา และอื่นๆ
โดยขณะนี้นอกจากจะมีพ่อค้าแม้ค้าที่จำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ยังมีผู้ประกอบการเคเบิลด้วยที่นำภาพยนตร์ชนโรงออกมาฉายให้สมาชิกชม ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจับกุมไปแล้วหลายราย สำหรับการกระทำผิดใน 3 พื้นที่สีแดงนั้น ได้มีการตลลงกันแล้วว่าจะไม่มีการยอมความกันแน่นอนและจะต้องดำเนินคดีถึงที่สุด
นายสุทธิศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวโน้มการลักลอบจำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ หรือละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เชื่อว่า ถ้าตำรวจทำงานอย่างเข้มงวดกลุ่มผู้ลักลอบก็ไม่กล้าที่จะนำสินค้ามาวางจำหน่ายอย่างเปิดเผยได้ เมื่อว่าขายอย่างเปิดเผยไม่ได้ก็จะทำให้สินค้าขายได้น้อยด้วยและต่อไปคนเหล่านี้ก็จะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมเลิกนำสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์มาจำหน่าย
ส่วนเรื่องของความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการลักลอบจำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา พบว่า ในแต่ละปีมีความเสียหายเกิดขึ้นประมาณ 6 พันล้านบาท
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์