สาธารณสุขภูเก็ต จัดโครงการคนไทยไร้พุง ปี 2550 พิชิตพุง พิชิตโรค สร้างเสริมสุขภาพให้คนภูเก็ต แข็งแรง
นายแพทย์ วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ นายแพทย์ 9 ด้านเวชกรรมป้องกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า จากการสำรวจประชากรไทย ปี 2547 พบว่า คนไทยอ้วนลงพุงเพิ่มขึ้น ร้อยละ 30 และประชากรอายุมากกว่า 30 ปี 9.3 ล้านคน มีเส้นรอบเอวเกินเกณฑ์กำหนด
โดยพบผู้หญิงมีอัตราเส้นรอบเอวสูง มากกว่าผู้ชาย ร้อยละ 52 และร้อยละ 22 ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่เป็นคนเมืองมากกว่าคนชนบท ร้อยละ 45 และร้อยละ 34 และพบว่า คนที่อ้วนลงพุงเป็นเบาหวานมากกว่าคนที่ไม่อ้วนลงพุง 3 เท่า มีความดันโลหิตสูง ไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูงมากกว่า 2 เท่า และจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าคนปกติ 5 เท่า เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองมากกว่า 1 เท่าตัว ดังนั้นยิ่งพุงใหญ่เท่าไหร่ ยิ่งตายเร็วเท่านั้น
จากที่กล่าวมาข้างต้น เป็นที่ประจักษ์ว่าอ้วนลงพุงกำลังคุกคามประชากรไทย ทำให้เกิดโรคต่างๆ เสียค่าใช้จ่ายสูง ในการดูแลรักษา และจากการวิจัยพบว่าถ้าลดน้ำหนักได้ร้อยละ 5-10 ของน้ำหนักที่เคยเป็น หรือลดขนาดรอบเอวได้ 5 ซม.ก็จะลดโอกาสโรคเบาหวาน 3-5 เท่า โรคความดันโลหิตสูง 3.5 เท่า โรคข้อเสื่อม 1.5 เท่า โรคเก๊าท์ 2.5 เท่า โรคหัวใจและหลอดเลือด 2 เท่า ฯลฯ
กระทรวงสาธารณสุข ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการ คนไทยไร้พุง และให้ทุกจังหวัดดำเนินโครงการโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ประชาชนวัย 15 ปีขึ้นไป ได้รับการเฝ้าระวังติดตามควบคุมรอบเอว โดยชายไม่เกิน 90 ซม.และหญิงไม่เกิน 80 ซม.และมีเป้าหมายชี้วัดความสำเร็จ ร้อยละ 80 ของชมรมสร้างเสริมสุขภาพ โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับ ม.4-6 ในอำเภอเมืองและหน่วยราชการส่วนภูมิภาคระดับจังหวัดทั่วประเทศ จัดกิจกรรมวัดรอบพุงปีละ 2 ครั้ง
นายแพทย์ วิวัฒน์ กล่าวอีกว่า เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว จังหวัดภูเก็ต ได้จัดกิจกรรมวัดรอบเอวในกลุ่มเป้าหมาย 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 วันที่ 26 ก.พ.2550 ครั้งที่ 2 วันที่ 26 ก.ค.2550 และจัดประชุมให้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกระดับ ผู้ประสานงานโครงการคนไทยไร้พุงในเครือข่ายพันธมิตรสร้างเสริมสุขภาพทั้งภาครัฐ-เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แกนนำชมรมสร้างเสริมสุขภาพ และผู้สนใจทั้งจังหวัด 2 เรื่อง คือ เรื่องลดพุง ลดโรค ในวันที่ 17 พ.ค.2550 เวลา 12.30-17.00 น. ณ ห้องประชุมโรงแรมเอสทีภูเก็ต และเรื่องสุดท้าย คือ เรื่องโปรแกรมลดน้ำหนัก ในวันที่ 28 พ.ค.2550 เวลา 12.30-17.00 น ณ ห้องประชุมโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต
อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญของการลดน้ำหนัก เพื่อลดไขมัน คือ การเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ควบคุมอาหาร พร้อมออกกำลังกาย แบบแอโรบิกอย่างน้อยวันละ 30 นาที เพิ่มการออกกำลังกายแบบเพิ่มแรงต้าน เช่น การยกน้ำหนัก และการยืดเหยียด หรือยืดเส้นยืดสาย เป็นต้น
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์