ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย กำหนด 21 กิจกรรมให้ภูเก็ตรับมือกับภัยสึนามิและภัยพิบัติต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งเตรียมพร้อมก่อนเกิด ขณะเกิดและการฟื้นฟูหลังเกิด การซักซ้อมหนี้ภัย มั่นใจเป็นแผนแรกที่เกิดขึ้นในโลกนี้ พร้อมเรียกร้องรัฐบาลจัดงบประมาณให้ภูเก็ตเพียงพอในการแปลงแผนสู่การปฏิบัติ
วันนี้ (30 เม.ย.) นายพิจิตต รัตตกุล รักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเซีย (ADPC) ได้ส่งมอบแผนกลยุทธ์การบริหารจัดการความเสี่ยงจังหวัดภูเก็ตให้กับนายนิรันดร์ กัลยาณมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ณ โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นจำนวนมาก
โดยการจัดทำแผนดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นภายหลังเกิดเหตุการณ์สึนามิในพื้นที่ฝั่งอันดามันเมื่อปลายปี 2547 ซึ่งทางสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว ได้ร่วมมือกับ APEC International Center for Sustainable Tourism (AICST) จัดทำโครงการ “กลยุทธ์การจัดการความเสี่ยงและวิกฤตด้านการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต” (A Tourism RiskManagement Strategy for Thailand) เป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2549 ถึงเดือนเมษายน 2550
ทั้งนี้ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานจัดการความเสี่ยงและวิกฤตด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยจำนวน 50 คน โดยคณะกรรมการจะเป็นผู้วางแผนกลยุทธ์จัดการความเสี่ยงเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น ทั้งนี้ โดยให้จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่องในการดำเนินโครงการดังกล่าว และขณะนี้แผนดังกล่าวได้จัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้วพร้อมกับส่งมอบให้กับจังหวัดภูเก็ตไปดำเนินการตามแผนที่วางไว้ เพราะเชื่อมั่นว่าแผนดังกล่าวจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในภูเก็ต
นายพิจิตต รัตตกุล รักษาการผู้อำนวยการศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเซีย กล่าวว่า แผนกลยุทธ์การจัดการความเสี่ยงทางด้านการท่องเที่ยวของภูเก็ตถือเป็นว่าเป็นแผนแรกที่จัดทำในโลก ในการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ การปฏิบัติเมื่อเกิดภัยพิบัติและการฟื้นฟูหลังเกิดภัยพิบัติแล้ว
โดยก่อนหน้านี้ทาง ADPC เคยพยายามที่จะจัดทำแผนดังกล่าวที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ภายหลังเกิดเหตุระเบิดขึ้นที่เกาะบาหลี แต่แผนดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ ไม่สามารถที่จะทำได้ เนื่องจากขาดความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆบนเกาะบาหลี แต่ในส่วนของจังหวัดภูเก็ตนั้นสามารถที่จะจัดทำแผนได้สำเร็จและคาดว่าแผนดังกล่าวจะสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
เนื่องจากที่ภูเก็ตทุกฝ่ายให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์สึนามิขึ้นทุกฝ่ายร่วมมือกันเป็นอย่างดีในการฟื้นฟูเกาะภูเก็ตจนกลับสู่สภาพปกติอย่างทุกวันนี้
สำหรับแผนกลยุทธ์จัดการความเสี่ยงทางด้านการท่องเที่ยวของภูเก็ตนั้น ได้กำหนดกิจกรรมไว้ทั้งการเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติ การปฏิบัติหลังจากเกิดภัยพิบัติแล้วและการฟื้นฟูหลังเกิดภัยพิบัติทั้งหมด 21 กิจกรรม ซึ่งครอบคลุมการป้องกันภัยทั้งหมด
เช่น ให้ผู้ประกอบการทุกแห่งที่อยู่บริเวณชายหาดจัดทำแผนป้องกันภัยพิบัติของตนเองเสริมแผนป้องกันภัยพิบัติรวมของจังหวัด การจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการในการรับมือกับภัยพิบัติ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเป็นประธาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐส่วนกลาง และท้องถิ่น ภาคเอกชนร่วมกันทำงาน การชักซ้อมแผนรองรับภัยพิบัติ ซึ่งจะกำหนดให้มีการซ้อมตามจุดย่อยและการซ้อมใหญ่
รวมทั้งการจัดทำเอกสารการปฏิบัติขณะเกิดภัยพิบัติให้กับนักท่องเที่ยวทุกคนที่เดินทางเข้ามาภูเก็ตทั้งทางอากาศ ทางรถยนต์ ทั้งนี้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ทราบว่าเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นจะปฏิบัติตัวอย่างไรถึงจะปลอดภัย โดยแผนดังกล่าวจะใช้เป็นเวลา 2 ปี
“การทำจัดแผนเตรียมความพร้อมรองรับภัยพิบัตินั้นถือเป็นสิ่งที่จำเป็นมากๆ เพราะเชื่อว่าหลังจากนี้ภัยพิบัติจะเกิดขึ้นถี่ รุ่นแรงและหนักมากขึ้นในอนาคต หากพื้นที่ใดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงแล้วไม่จัดทำแผนรองรับจะทำให้เกิดความเสี่ยงสูงมาก อย่างเมื่อไม่กี่วันมานี้เราจะเห็นว่ามีแผ่นดินไหวที่เกาะสุมาตราการอีก 6.1 ริกเตอร์และคาดว่าจะเกิดแผ่นดินไหวบ่อยขึ้นจากเปลือกโลกที่เปลี่ยนไป รวมทั้งภายธรรมชาติอื่นๆ” นายพิจิตต กล่าวว่า และว่า
เมื่อจัดทำแผนแล้วเสร็จ ทางรัฐบาลน่าที่จะเข้ามาสนับสนุนในเรื่องของงบประมาณการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพราะภูเก็ตถือว่าเป็นพื้นที่ที่จำเป็นที่จะต้องทำแผนรองรับ เพราะเป็นเมืองท่องเที่ยว และในแต่ละปีภูเก็ตสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาล การลงทุนในการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นถือว่าคุ้มค่ามาก
ด้านนายเอี่ยม ถาวรว่องวงศ์ ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า แผนดังกล่าวถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่จะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนชาวภูเก็ตที่อยู่ในพื้นเสี่ยง รวมไปถึงนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาภูเก็ตจะได้เห็นว่าภูเก็ตมีความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นและแผนดังกล่าวก็ครอบคลุมในการป้องกันภัยต่างๆที่จะเกิดขึ้น
ด้านนายสรายุทธ์ มัลลัม อุปนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า แผนที่จัดทำขึ้นแล้วเสร็จนั้นจะต้องนำสู่การปฏิบัติและอยากให้ทาง ADPC เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงในการแปลงแผนสู่การปฏิบัติด้วย เพื่อให้แผนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์