กระทรวงทรัพย์ ฟังความเห็นคนภูเก็ต ปรับปรุงประกาศคุ้มครองสิ่งแวดล้อมโดยคนภูเก็ตเสนอขอสร้างบ้านบนที่สูงเกิน 80 เมตร 1 โฉนดที่ดินต่อ 1 หลัง อ้างลิดรอนสิทธิ
เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ (25 เม.ย.) ที่ห้องประชุมโรงแรมเมโทรโพล อ. เมือง จ.ภูเก็ต นายวรพจน์ รัฐสีมา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับปรุงประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ.2546 ครั้งที่ 1
การประชุมดังกล่าว จังหวัดภูเก็ต ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติจัดขึ้น เพื่อรับทราบข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่างๆ ในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการปรับปรุงมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปเป็นมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ ฉบับต่อไป โดยมีส่วนราชการ ประชาชนผู้ประกอบการ องค์กรเอชน และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมจำนวน ประมาณ 100 คน
นางอุษา เกียรติชัยพิพัฒน์ ผู้อำนวยการกองสิ่งแวดล้อมชุมชนและพื้นที่เฉพาะ กล่าวว่า ประกาศกระทรวงทรัพย์ดังกล่าว มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่เดือนกันยายน 2546-กันยายน 2551 และได้มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตาม มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต ซึ่งอยู่ในขอบเขตที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวง พ.ศ.2546
ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินสถานการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิเคราะห์ประเด็นปัญหา อุปสรรค และเงื่อนไขต่างๆ ผลดีผลเสียที่เกิดขึ้น รวมทั้งระดับความสัมฤทธิ์ผลในการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมให้กับทุกภาคส่วนในพื้นที่ รวมถึงการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาและป้องกันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น ให้ได้ข้อคิดเห็นข้อคิดเสนอแนะจากภาคส่วนต่างๆ ในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างแท้จริง ให้ได้ร่างประกาศกระทรวงทรัพย์ฯและแนวทาง เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครอง
อย่างไรก็ตาม ในการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก คือ การห้ามก่อสร้าง หรือดัดแปลงอาคารใดๆ ในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเกินกว่า 80 เมตรขึ้น โดยได้มีการขอให้แก้ไขและเพิ่มเติมให้มีได้ เฉพาะอาคารบ้านพักอาศัยชั้นเดียว ความสูงไม่เกิน 6 เมตร โดยมีพื้นที่ใช้สอยรวมไม่เกิน 150 ตารางเมตร จำนวนหนึ่งหน่วยอาศัย ต่อโฉนดที่ดินที่ทำประโยชน์ ซึ่งได้กรรมสิทธิ์มาก่อนประกาศใช้ ทั้งนี้ให้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม
นายธวัช ดวงตะวัน หนึ่งในผู้ที่ร่วมแสดงความ คิดเห็นซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว และเป็นแกนนำในการยื่นคัดค้าน เพื่อให้แก้ไขมาตั้งแต่เริ่มต้น กล่าวว่า ตนเข้าใจความห่วงใยในเรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อม แต่มาตรการดังกล่าวถือเป็นการริดรอนสิทธิของผู้ที่เป็นเจ้าของ จึงอยากให้มีการปรับแก้ เพราะบางรายต้องการที่จะสร้างที่อยู่อาศัยซึ่งถือเป็น ปัจจัย 4 ดังนั้น ควรที่จะมีการอนุญาตได้ ซึ่งจะเปิดกว้างหรือจำกัดพื้นที่ในการอนุญาตก็ได้ เพราะปัจจุบันในหลายพื้นที่ที่มีความสูงในระดับดังกล่าว ก็มีการสร้างถนนตัดผ่านแล้วหลายแห่ง
ในขณะที่ นายแนบ สินทอง พัฒนาการจังหวัดภูเก็ต กล่าวในประเด็นนี้ว่า อยากให้มีการพิจารณาให้ดี เพราะหากบอกว่าต่อ 1 โฉนดที่ดินนั้นอาจจะมีการแบ่งแยกออกเป็น หลายแปลงได้
นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หรือผู้ที่มีที่ดินบนที่สูงต่างแสดงความเห็นไปในทางเดียวกันที่จะขอแก้ไขเพื่อเปิดกว้าง
ประเด็นถัดมาที่มีการกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง คือ เรื่องของการสร้างมารีนา ซึ่งเห็นควรให้มีการจัดทำ EIA หรือการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากเดิมให้ทำเพียงรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โดย ดร.เครือวัลย์ ลิ่มอภิชาต ประธาน บริษัท อินโฟเสิร์ช จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดทำรายงานผลกระทบ สิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในเรื่องของการสร้างมารีนา ไม่ควรที่จะมองเรื่องของสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูส่วนประกอบอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะภูเก็ตซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยว
ดังนั้น ในการที่จะระบุว่าควรทำ EIA หรือไม่อย่างไร ควรที่จะมีการศึกษารายละเอียดผลดีผลเสียให้ชัดเจน รวมถึงการประชุมกลุ่มเพื่อสอบถามความคิดเห็นของกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ เนื่องจากในพื้นที่ภูเก็ตนั้นมีมารีนาไม่กี่แห่ง โดยในการกำหนดหลักเกณฑ์ใดๆ ควรให้มีมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่เมื่อทำขึ้นมาแล้วเกิดการต่อต้าน
ด้าน นายสุทา ประทีป ณ ถลาง ตัวแทนเครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดภูเก็ต กล่าว ว่าในเรื่องของการอนุญาตนั้นควรที่จะคิดให้รอบคอบ และต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดกับทรัพยากรชายฝั่งทะเล และวิถีชีวิตของชุมชน หรือหากจะมีการก่อสร้างก็ควรที่จะกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวที่ ยั่งยืน
นายวีรนิต ฐานสุพร หัวหน้ากลุ่มงานสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เฉพาะ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เหตุที่มีการคงไว้ในส่วนของการก่อ สร้างบนพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางเกินกว่า 80 เมตรขึ้นไปนั้น เนื่องจากมีข้อมูลที่ชัดเจนจากกรมทรัพยากรธรณีว่า สภาพดินของภูเก็ตนั้นชั้นดินไม่แข็งแรง มีโอกาสที่จะเกิดแลนด์สไลด์ได้หากมีการเปิดหน้าดินมาก แต่ก็คงต้องมาตรการรองรับสำหรับผู้ที่มีเอกสารสิทธิ
ส่วนกรณีของการก่อสร้างมารีนา ต้องมองผลกระทบที่เกิดขึ้น จากเดิมให้ทำเพียงการรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น แต่ของใหม่คงต้องเพิ่มมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น โดยจะกำหนดรายละเอียดไว้ในประเภทโครงการ ที่จะต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม จากการประเมินผลที่ผ่านมา กว่า 90% เห็นด้วยที่มีการใช้ประกาศกระทรวงฯ แต่ขอให้มีการปรับในเรื่องมาตรการเพื่อให้สามารถปฏิบัติได้มากขึ้น รวมทั้งความเป็นไปได้ในการเยียวยารักษา ซึ่งต่อจากนี้ก็จะมีการออกมาตรการฟื้นฟูควบคู่ไปด้วย รวมทั้งการเสนอแนะในส่วนของท้องถิ่นที่จะต้องดำเนินการ เพื่อให้เป็นไปตาม มาตรการในประกาศดังกล่าว
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์