แหล่งรวม ธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน และ ข้อมูล การท่องเที่ยว ในแถบ อันดามัน
 
เข้าสู่ระบบ G! Builder
เลือกจังหวัด
ข่าวสาร ข่าวทั่วไป ในแถบ อันดามัน ( ภูเก็ต, กระบี่, ระนอง, ตรัง, พังงา, สตูล )

ภูเก็ต, แนะตั้งที่ปรึกษาศึกษาความเป็นไปได้ปรับปรุงท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ( ข่าวภูเก็ต )

คณะกรรมาธิการคมนาคมแนะท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ตั้งคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ ปรับปรุงท่าเทียบเรือ เพื่อให้ทำงานมีประสิทธิภาพคุ้มค่ากับการลงทุน ทั้งในส่วนของการบริการนักท่องเที่ยวและส่งสินค้า
      
วันนี้ (9เม.ย.) ที่ห้องประชุมท่าเทียบเรือลึกภูเก็ต พลเรือเอกบรรณวิทย์ เก่งเรียน ประธานคณะกรรมาธิการการคมคมนาคม พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการด้านการคมนาคมทางอากาศ และคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา เกี่ยวกับการบริหารจัดการสนามบินในประเทศไทย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ รับฟังบรรยายสรุป การบริหารท่าเทียบเรือน้ำลึกภูเก็ต ในโอกาสที่เดินทางมาศึกษาดูงานเพื่อศึกษาข้อเท็จจริง และตรวจสอบการดำเนินงาน รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคต่างๆของท่าเทียบเรือน้ำลึกภูเก็ต และท่าอากาศยานภูเก็ต โดยมีนายอาซิ่น อร่ามเมธาพงศา ผู้จัดการท่าเทียบเรือน้ำลึกภูเก็ต นายสุรินทร์ ธีระกุลพิศุทธิ์ ขนส่งทางน้ำภูมิภาคที่ 5 ภูเก็ต นายธำรงค์ ทองตัน ธนารักษ์พื้นที่ภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
      
พลเรือเอกบรรณวิทย์ กล่าวภายหลังการรับฟังบรรยายสรุป ว่า แม้ว่าการประกอบการของท่าเทียบเรือภูเก็ต จะมีกำไรจากการประกอบการ แต่ก็เพียงเล็กน้อย เฉลี่ยปีละประมาณ 3 ล้านบาท ซึ่งถือว่าขาดทุน เนื่องจากสิ่งอำนวยความสะดวกหลังท่าไม่เพียงพอ เช่น การรองรับผู้โดยสารไม่สมบูรณ์แบบ ดังนั้น จึงต้องหาวิธีการเพื่อปรับปรุงให้ท่าเทียบเรือแห่งนี้สามารถที่จะรับนักท่องเที่ยวได้มากกว่านี้ และสามารถรับส่งสินค้าที่ไม่ใช่ตู้คอนเทนเนอร์โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตร เช่น ยางพารา ควบคู่กันไป จึงไม่สามารถที่จะแยกส่วนเฉพาะท่องเที่ยวหรือ การขนส่งสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างไรก็ตาม
      
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพและคุ้ม ค่ากับการลงทุนก็จะได้มีการจัดตั้งคณะทำงานศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับปรุงท่าเทียบเรือน้ำลึกภูเก็ต ทั้งในส่วนของการให้บริการเพื่อการท่องเที่ยวว่าจะมีจำนวน นักท่องเที่ยวที่คุ้มทุนและการขนส่งสินค้า ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินการ ประมาณ 3 เดือน หลังจากนั้นก็จะได้นำเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาต่อไป
      
สำหรับวัตถุประสงค์ของท่าเรือน้ำลึก อยากให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เป็นไปได้ยาก เพราะจะประสบกับ ปัญหาการขาดทุน จึงจำเป็นที่จะต้องประสมประสานกันไปก่อน และเมื่อถึงจุดหนึ่งที่ สามารถทำอย่างใดอย่างหนึ่งก็ค่อยมาปรับเปลี่ยนให้เกิดความเหมาะสม ซึ่งเท่าที่ได้รับรายงานก็อยากให้เป็นเรื่องของการบริการผู้โดยสารเป็นหลัก เพราะปัจจุบันก็เป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว และอาจปรับปรุงบางส่วนเพื่อการขนส่งสินค้า เพราะปัจจุบันขนาดความยาวของท่าก็เพียงพอในการรองรับเรือขนาดใหญ่อยู่แล้ว รวม ถึงขนาดร่องน้ำที่เหมาะสม
      
ท่าเทียบเรือน้ำลึกภูเก็ต มีเป้าหมายให้เป็นท่าเรือสินค้าควบคู่กับท่าเรือน้ำลึกสงขลา ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2529 แล้วเสร็จปี 2531 ใช้งบก่อสร้าง ประมาณ 283 ล้านบาท ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาเอเชียจำนวน 60 % ส่วนที่เหลือเป็นเงินงบประมาณจากรัฐบาล มีความยาวหน้าท่า 360 เมตร ร่องน้ำทางเข้าท่าเรือยาว 1.5 กม. กว้าง 120 เมตร ลึก 9 เมตร จากระดับน้ำทะเลต่ำสุด
      
ทั้งนี้ โดยกรม ธนารักษ์ได้ลงนามสัญญาให้เช่าท่าเรือกับบริษัท เจ้าพระยาท่าเรือสากล จำกัด ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2531 มีอายุสัญญา 10 ปี สิ้นสุดสัญญาเมื่อเดือนตุลาคม 2541 และได้ต่อสัญญาออกเป็น 2ระยะ ในช่วงปี 2541-2546 และ 2547-2551โดยมีผลตอบแทนให้รัฐ ประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมรายปีและส่วนแบ่งปันรายได้ ในปี 2549 ที่ผ่านมา มีปริมาณเรือจำนวน 173 เที่ยว มีสินค้าเข้า ได้แก่ แร่ ดีบุก ถ่านหิน ไม้ซุง ปลาแช่แข็งรวมจำนวน 6,826 ตัน และสินค้าออก ได้แก่ ยางพารา น้ำยางข้น ดีบุก น้ำมันปาล์มและสินค้าอื่นๆ รวมจำนวน 109,834 ตัน
      
ท่าเรือรายรับในปี 2549 จำนวน 28.518 ล้านบาท มีรายจ่าย 24.698 ล้านบาท มีกำไร 3.820 ล้านบาท ในขณะที่ ปี 2548 มีรายรับ 32.788 ล้านบาท รายจ่าย 27.637 ล้านบาท มี กำไร 5.141 ล้านบาท ในขณะที่จำนวนผู้โดยสารขาเข้าและขาออก ในปี 2549 จำนวน 142,394 คน มีปริมาณเรือโดยสารจำนวน 77 เที่ยว ซึ่งน้อยกว่าปี 2548 ซึ่ง มีจำนวน 87 เที่ยว ทั้งหมดเป็นเรือโดยสารขนาดใหญ่จากต่างประเทศ
      
อย่างไรก็ตามในส่วนของท่าอากาศยานภูเก็ต พลเรือเอกบรรณวิทย์ กล่าวว่า เท่าที่ทราบพบว่าการดำเนินงานของท่าอากาศยานมีปัญหาในเรื่องของสายการบินต่างๆ ที่เข้ามาพร้อมๆ กัน ทำให้ผู้โดยสารต้องใช้เวลานานในการผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งบางครั้งรอนาน 3-4 ชั่วโมง ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ก็มีเที่ยวบินเช่าเหมาลำที่เข้ามาพร้อมกันประมาณ 10 เที่ยว มีผู้โดยสาร ประมาณ 2,000 คนทำให้มีปัญหากระทบกระทั่งเกิดขึ้น
      
ทั้งนี้ จะพิจารณาว่าจะมีการขยายช่องทางอย่างไร หรือจะทำการตรวจคน เข้าเมืองโดยส่งเจ้าหน้าที่ตรวจตั้งแต่ต้นทางที่ผู้โดยสารเริ่มออกมา ส่วนขากลับก็อำนวยความสะดวกโดยการไปตรวจยังโรงแรมที่พัก เมื่อมาถึงสนามบินแล้วก็จะสามารถผ่านไปได้เลยไม่ต้องปะปนกับผู้โดยสารทั่วไป เพราะส่วนใหญ่ที่มีปัญหา คือกรณีเช่าเหมาลำซึ่งจะทราบจำนวนที่ชัดเจนแน่นอนอยู่แล้ว

ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์

Valid XHTML 1.0 Transitional Valid CSS!
ทะเบียนพาณิชย์อีเลคทรอนิคส์ เลขที่ 8373549000215