รองผู้ว่าฯภูเก็ตเร่งแก้ปัญหา ชาวบ้านร้องเรียนถูกอุทยานฯประกาศเขตทับที่ดินทั้งที่ซื้อมานานแล้ว
นายตรี อัครเดชา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงกรณีที่มีชาวบ้านรายหนึ่ง มาร้องขอความเป็นธรรม กรณีซื้อที่ดินมาระยะหนึ่ง ต่อมาถูกอุทยานฯประกาศเขตทับที่ดิน จึงขอให้มีการตรวจสอบ ว่า การขอความเป็นธรรมของชาวบ้านรายดังกล่าว ซึ่งมีอาชีพเป็นทนายอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งต้องการให้มีการพิสูจน์สิทธิ์โดยอ้างว่าได้ไปซื้อที่ดินจากผู้ที่เคยอาศัยอยู่เก่าเมื่อปี 2520 จำนวน 9 ไร่
ต่อมาปรากฏว่า อุทยานแห่งชาติสิรินาถทำการรังวัดแนวเขตใหม่ และได้มีการประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ.2524 การซื้อของชาวบ้านรายดังกล่าวไม่มีเอกสารสิทธิ แต่เป็นลักษณะการครอบครองต่อๆ กันมา ซึ่งการกระทำดังกล่าวของภาครัฐ ทำให้เขาไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยตัวเขาเองนั้นไม่ได้ต้องการเอกสารสิทธิ แต่เมื่อมีการประกาศเป็นป่าสงวนแห่งก็เท่ากับเขาบุกรุกที่รัฐ จึงอยากให้มีการพิสูจน์สิทธิ์ว่า ระหว่างที่เขาซื้อที่ก่อนที่จะประกาศเขตอุทยานฯนั้นเขาผิดกฎหมายหรือไป
ขณะนี้ เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง ของอำเภอถลางกับอุทยานสิรินาถ ปัญหาการร้องเรียนเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมมีค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเรื่องการบุกรุกเป็นปัญหามาตั้งแต่อดีต หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ได้ดำเนินการตั้งแต่เริ่มต้น ปัดความรับผิดชอบ เพราะงานลักษณะนี้คาบเกี่ยวกับหลายหน่วยงาน โยนกันไปโดยกันมา ทำให้ประชาชนหาที่พึ่งไม่ได้ ก็มาร้องต่อศูนย์ดำรงธรรม โดยมีปลัดเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ส่วนงานความมั่นคงจะขึ้นกับตน
เมื่อร้องศูนย์ดำรงธรรม จะดำเนินการให้โดยมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่เป็นปัญหามาก จะเข้าคณะกรรมการกบร.ซึ่งมีผู้ว่าฯ เป็นประธานตัดสิน หน้าที่ของศูนย์ดำรงธรรม หากเป็นหน้าที่ของปลัดโดยตรงหากทำได้ก็จะทำ หากเป็นเรื่องของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ แต่เมื่อมีหลายหน่วยงานก็อาจจะมีปัญหาก็จะให้ชุดเฉพาะกิจ ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และจะพิจารณาในส่วนของศูนย์ดำรงธรรมก่อนหากต้อง การใช้การตัดสินระดับจังหวัด ก็ส่งเรื่องเข้ากบร.โดยมีการประชุมเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อติดตามงานที่เป็นปัญหา
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต ได้มีการดำเนินจัดทำแผนที่ที่ดินในพื้นที่อำเภอถลางจำนวน 5 แปลง ซึ่งอยู่ในเขตสวน ป่าบางขนุนกับอุทยานแห่งชาติสิรินาถ โดยกำหนดโครงสร้างใหม่ขึ้นใหม่ เนื่องจากในบางส่วนมีปัญหาไม่สามารถที่จะหาข้อยุติได้
เช่น พื้นที่ระหว่างธนารักษ์กับที่สาธารณะ ซึ่งนายอำเภอดูแล เมื่อเป็นพื้นที่ของหน่วยงานใด เช่น ป่าไม้ ที่สาธารณะซึ่งประชาชนใช้ร่วมกัน และในการตรวจพบว่าเป็นพื้นที่มีเอกสารสิทธิของประชาชนก็จะไม่ให้กระทบ ซึ่งจะมีการกำหนดเขตพื้นที่ให้ชัดเจน ในการรับผิดชอบของแต่ละหน่วยราชการที่ดำเนินการอยู่ โดยมีคณะทำงานในระดับอำเภอ ซึ่งให้นายอำเภอเป็นประธาน จากนั้นก็จะส่งเข้ามาระดับจังหวัดพิจารณา หากเห็นชอบก็จะได้มีการลงนามประกาศต่อไป
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์